ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หัวเราะวันละนิดจิตแจ่มใส แต่ต้องเป็นการหัวเราะอย่างจริงใจ


หัวเราะวันละนิดจิตแจ่มใส แต่ต้องเป็นการหัวเราะอย่างจริงใจ
หัวเราะวันละนิดจิตแจ่มใส แต่ต้องเป็นการหัวเราะอย่างจริงใจ

ว่ากันว่าเสียงหัวเราะนั้น คือการสื่อสารขั้นพื้นฐานแบบแรกของมนุษย์ ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ไม่ว่าคนหรือสัตว์ ต่างรู้จักหัวเราะโดยไม่ต้องมีใครสอน แต่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม การหัวเราะนั้นมีหลายแบบ หัวเราะแบบจริงใจ หัวเราะแบบไม่รู้ตัว หัวเราะแบบกลั้นไม่อยู่ หรือจะแสร้งหัวเราะ

มีคนบอกไว้ว่าหัวเราะวันละนิดจิตแจ่มใส แต่ถ้าหากเป็นการหัวเราะ ที่ไม่ได้เกิดจากอาการขำขันจริงๆ จัง แต่เป็นการตอบสนองทางสังคมล่ะ จิตใจจะแจ่มใสหรือไม่ คุณหมอ Robert Provine นักประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยประจำรัฐแมรี่แลนด์ วิทยาเขตบัลติมอร์ ผู้ศึกษาเรื่องการหัวเราะมานานหลายสิบปีชี้ว่า มีเพียง 10-15% ของการหัวเราะเท่านั้น ที่เป็นผลมาจากการได้ยินหรือเห็นเรื่องตลก ส่วนที่เหลือนั้นคือการตอบสนองทางสังคม ดังจะเห็นได้จากคนเราจะไม่ค่อยหัวเราะมากนัก เมื่ออยู่คนเดียว พูดง่ายๆ ก็คือการหัวเราะจะมีรสชาดต้องมีคนอื่นร่วมหัวเราะด้วยนั่นเอง

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งของผู้เขียนหนังสือชื่อ การสืบสวนทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการหัวเราะนี้ก็คือ ทุกชาติทุกภาษามักจะออกเสียงหัวเราะว่า 5-5-5 ทั้งนั้น ไม่ว่าจะฝรั่ง จีน แขก ไทย เรียกว่าเป็นรูปแบบสากล ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดจากการที่สมองมนุษย์ สั่งงานโดยอัตโนมัติ คุณหมอ Provine อธิบายต่อว่า คนหูหนวกหัวเราะได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้ยิน คนคุยโทรศัพท์หัวเราะได้ทั้งๆ ที่ไม่เห็นอีกฝ่ายหนึ่ง จึงอาจสรุปได้ว่า การหัวเราะไม่จำเป็นต้องใช้ประสาทสัมผัสชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่เป็นการโต้ตอบทางสังคม

ทางด้านศาสตราจารย์ Jaak Panksepp แห่งภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Bowling Green ระบุว่า สัตว์โลกชนิดอื่นๆ ก็หัวเราะได้เช่นกัน เช่น ลิงชิมแปนซีที่หัวเราะเมื่อถูกเพื่อนลิงจั๊กกะจี้ เช่นเดียวกับหนูทดลอง ที่หัวเราะได้เมื่อถูกจั๊กกะจี้และยังชอบใจเสียด้วย โดยจากงานวิจัยเรื่องหนูหัวเราะ ศาสตราจารย์ Panksepp และเพื่อนร่วมงานพบว่า เมื่อหนูทดลองหัวเราะชอบใจ จะมีสารเคมีคล้ายอินซูลินหลั่งออกมา ซึ่งมีสรรพคุณช่วยต้านอาการซึมเศร้า และลดความกังวล

นักวิจัยผู้นี้เชื่อว่า เมื่อมนุษย์เราหัวเราะคงจะได้ผลอย่างเดียวกัน และผลการวิจัยครั้งนี้ อาจช่วยให้แพทย์สามารถนำสารเคมีดังกล่าว ไปใช้พัฒนายารักษาโรคซึมเศร้า ได้ต่อไปในอนาคต แต่ถึงแม้แพทย์จะคิดค้นยาที่ว่านี้ไม่ได้ ลำพังแค่เสียงหัวเราะก็ว่ากันว่า เป็นยาวิเศษที่สุดแล้ว ที่สำคัญก็คือหากมีสักครั้งที่เรารู้สึกดี จนหัวเราะออกมาดังดังอย่างจริงใจ อย่างที่ออกมาจากข้างใน นั่นก็คงจะเพียงพอแล้ว



XS
SM
MD
LG