ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การศึกษาเรื่องความเหงา ซึ่งสามารถแพร่เชื้อจากคนหนึ่ง ไปสู่อีกคนหนึ่งได้


การศึกษาครั้งใหม่ระบุว่า ความเหงา หรือความอ้างว้าง สามารถแพร่เชื้อจากคนๆ หนึ่ง ไปสู่อีกคนหนึ่งได้ เช่นเดียวกับโรคภัยไข้เจ็บ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

คณะนักวิจัยใช้ข้อมูลจากการศึกษา เรื่องโรคหัวใจของโครงการ Framingham Heart Study ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2491 การศึกษาของโครงการ Framingham นี้ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ตลอดจนข้อมูลทางด้านพฤติกรรมส่วนบุคคล และข้อมูลทางด้านโภชนาการจากกลุ่มตัวอย่าง ราวห้าพันคน ข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาจากโครงการ Framingham ได้แสดงให้เห็นมาก่อนแล้วว่า ความสุขนั้น สามารถถ่ายทอดจากคนๆ หนึ่ง ไปสู่อีกคนหนึ่งได้ เช่นเดียวกันกับพฤติกรรมอื่นๆ อย่างเช่น การเป็นโรคอ้วน และความสามารถในการเลิกสูบบุหรี่

ศาสตราจารย์ John Cacioppo นักจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก้ เป็นผู้นำในการศึกษาที่มีขึ้นในครั้งหลังนี้ ศาสตราจารย์ John และนักวิจัยท่านอื่นๆ พยายามศึกษาเพื่อให้ทราบว่า คนเราเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง กันบ่อยแค่ไหน นักวิจัยพบว่าความรู้สึกหงอยเหงานี้ สามารถถ่ายทอดไปสู่กลุ่มคนในสังคมได้ และพบว่าการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนเหงา อาจทำให้มีโอกาสกลายเป็นคนขี้เหงาตามไปด้วย กล่าวคือ เพื่อนของคนขี้เหงา มีโอกาสเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างขึ้น 52% และเพื่อนของเพื่อนคนนั้น ก็มีโอกาสเกิดความรู้สึกนี้ได้ถึง 25% ด้วยเช่นกัน นักวิจัยกล่าวว่า การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์เราสามารถรับผลกระทบจากความโดดเดี่ยว อ้างว้างของคนบางคนโดยทางอ้อมได้

แต่ผลกระทบดังกล่าวจะรุนแรงที่สุดในหมู่เพื่อนฝูง ส่วนเพื่อนบ้าน จัดเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้เป็นอันดับที่ 2 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของความเหงา มีอยู่บางเบากว่าในหมู่สามี ภรรยา และพี่น้องทั้งหญิงและชาย และนักวิจัยยังพบว่า ความเหงาถ่ายทอดในหมู่ผู้หญิง ง่ายกว่าในหมู่ผู้ชายอีกด้วย

หนังสือพิมพ์ New York Times รายงานว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้คนจะรู้สึกหงอยเหงากันประมาณปีละ 48 วัน และการวิจัยนี้ได้พบว่า การมีเพื่อนที่เป็นคนขี้เหงา อาจทำให้เรารู้สึกหงอยเหงาเพิ่มขึ้นไปอีกถึง 17 วัน ในรายงานยังระบุอีกว่า เพื่อนแต่ละคน (ที่ไม่ใช่คนขี้เหงา) สามารถช่วยลดความหงอยเหงาของเราลงได้ราว 5% หรือเท่ากับช่วยลดวันเหงาๆ ลงไปได้ถึง 2 วันครึ่งต่อปีเลยทีเดียว

การศึกษาระบุด้วยว่า ความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ยังเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ อย่างเช่น ทำให้มีอาการสลดหดหู่ และนอนหลับยาก นักวิจัยเชื่อว่า ถ้าเราทราบสาเหตุของความหงอยเหงา ก็อาจจะช่วยลดปัญหานี้ได้

นักวิจัยไม่ได้ศึกษาว่าความเหงาแพร่เชื้อได้อย่างไร แต่ศาสตราจารย์ John Cacioppo กล่าวว่า การศึกษาที่มีอยู่ชี้ให้เห็นว่า คนขี้เหงามักจะไม่ไว้วางใจคนอื่นๆ และพฤติกรรมนี้ ก็ถ่ายทอดจากคนๆ หนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ด้วย

การศึกษานี้แนะว่า เราสามารถหยุดการแพร่เชื้อของความเหงาได้ โดยการให้ความช่วยเหลือบรรดาคนขี้เหงา ที่เรารู้จัก และผลลัพธ์นี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนในสังคม การศึกษาเรื่องนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Personality and Social Psychology ฉบับประจำเดือนธันวาคม



XS
SM
MD
LG