ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานวิจัยชิ้นใหม่ระบุว่า การนั่งนานเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้


รายงานวิจัยชิ้นใหม่ ที่เพิ่งเผยแพร่ไม่นานมานี้ ระบุว่า การนั่งนานๆ ไม่ว่าจะนั่งทำงาน นั่งขับรถ หรือนั่งดูทีวีอยู่ที่บ้าน หากนานเกินไปก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ไม่ว่าจะออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอหรืไม่ก็ตาม

รายงานวิจัยที่เผยแพร่อยู่ในวารสาร British Journal of Sports Medicine ฉบับสัปดาห์นี้เปิดเผยว่า การนั่งอยู่ในที่ที่เดียวนานๆ หลายชั่วโมงโดยไม่ลุกยืนหรือเดินไปไหน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะโรคอ้วน โรคหัวใจหรือโรคมะเร็ง โดยคณะนักวิจัยบอกว่า ความเสี่ยงที่ว่านี้ อาจเพิ่มขึ้นได้ แม้จะออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอก็ตาม

คุณ Elin Ezblom-Bak นักวิจัยแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬา และสุขภาพในสวีเดน ผู้จัดทำรายงานที่ว่านี้กล่าวว่า ในขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ต่างพร่ำบอกว่า ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละเท่าไหร่ แต่กลับไม่มีใครแนะนำว่า ควรจำกัดเวลาที่ใช้บนเก้าอี้ หรือโซฟาวันละกี่ชั่วโมง นักวิจัยผู้นี้อธิบายว่า หลังจากที่คนเรานั่งอยู่ที่เดียว โดยไม่ลุกไปไหนเป็นเวลา 4 ชั่วโมงแล้วนั้น ร่างกายจะเริ่มส่งสัญญาณถึงอันตราย เพราะยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคส และไขมันในร่างกายจะเริ่มหยุดทำงาน

ทางด้านคุณ Tim Armstrong ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกาย ขององค์การอนามัยโลกชี้ว่า สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายทุกวัน แต่กลับใช้เวลาที่เหลือบนเก้าอี้หรือโซฟานานๆ ก็อาจได้รับประโยชน์จากการออกกำลังกายได้ไม่เต็มที่ จึงแนะนำให้กระจายตารางการออกกำลังกาย ให้ครอบคลุมทั้งวัน เช่นอาจจะเช้าหนึ่งชั่วโมง เย็นหนึ่งชั่วโมง ซึ่งจะดีกว่าการออกกำลังกายรวดเดียววันละครั้ง

คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญผู้นี้ เป็นไปในทำนองเดียวกับรายงานชิ้นหนึ่ง เมื่อปีที่ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวแคนาดา 17,000 คน ได้ผลว่า คนที่ยิ่งนั่งนานๆ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ไม่ว่าจะออกกำลังกายหรือไม่ก็ตาม และแม้ผู้จัดทำรายงานดังกล่าวจะระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้แน่ชัดว่า นั่งนานๆ กี่ชั่วโมงกันแน่ที่เรียกว่าเป็นอันตราย แต่ก็เชื่อว่ายิ่งสามารถลุกขึ้นยืน หรือเดินไปเดินมาได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกายมากขึ้นเท่านั้น

รายงานการสำรวจเมื่อปี 2003-2004 แสดงให้เห็นว่า คนอเมริกันใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวัน คือมากกว่าครึ่งหนึ่ง บนเก้าอี้และโซฟา ทั้งในที่ทำงาน ที่บ้านและในรถยนต์ ซึ่งคุณ Ezblom-Bak

และคณะนักวิจัยแนะนำว่า ควรหาแรงจูงใจให้ลุกขึ้นยืน หรือเดินบ้างเมื่อนั่งเป็นเวลานานมากแล้ว เช่น เดินไปพูดคุยทักทายกับเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนบ้าน เดินไปร้านค้าแทนที่จะใช้รถยนต์ เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ หรือเดินไปชงกาแฟ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องระวังเช่นกัน เพราะแม้การนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน และโรคหัวใจ แต่การเดินไปเดินมา ไม่อยู่ที่โต๊ะทำงานเป็นเวลานานๆ หลายๆ ชั่วโมงทุกวัน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยง ต่อการเป็นโรคขาดสารอาหาร เนื่องจากไม่มีเงินซื้อข้าวกิน เมื่อถูกหัวหน้าไล่ออกจากงานก็เป็นได้


XS
SM
MD
LG