ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กล้องดูดาวอวกาศ ตรวจพบดาวเคราะห์ 5 ดวง ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโลก และดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ


นักวิทยาศาสตร์รายงานว่า กล้องดูดาวอวกาศ Kepler ที่ส่งขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ตรวจพบดาวเคราะห์ 5 ดวง ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ชุดแรกที่กล้องดูดาวอวกาศ Kepler สำรวจพบ

กล้องดูดาวอวกาศ Kepler นั้น ออกแบบให้สำรวจหาดาวเคราะห์แบบโลกเราโดยเฉพาะ แต่ดาวเคราะห์ที่กล้องเคปเลอร์ตรวจพบชุดแรก 5 ดวงนี้ ส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่กว่าโลกเราและดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะของเรามาก

ดาวเคราะห์ที่พบใหม่นี้ 4 ดวง ขนาดใหญ่กว่าดาวพฤหัส และอีกดวงหนึ่งขนาดพอ ๆ กับดาวเนปจูน นักวิทยาศาสตร์ขององค์การอวกาศสหรัฐ หรือ NASA กล่าวว่า ดาวเคราะห์เหล่านี้ โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงแม่เร็วมาก รอบหนึ่งนับเวลาได้เป็นวันเท่านั้น คือตั้งแต่ 3.2 วันถึง 4.9 วัน ซึ่งแสดงว่าวงโคจรของดาวเคราะห์เหล่านี้อยู่ใกล้ดาวฤกษ์ดวงแม่มาก และมีอุณหภูมิสูงมาก

William Borucki นักวิทยาศาสตร์ NASA กล่าวว่า ดาวเคราะห์ที่พบใหม่นี้ ทุกดวงร้อนแรง กว่า Lava หรือ หินละลายภูเขาไฟ จนมีแสงสว่างโชติช่วงในตัวเอง เหมือนเตาเผา William Borucki และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ของ NASA แถลงเรื่องนี้ ในการประชุมของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน ที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันจันทร์ที่ 4 มกราคมนี้เอง

การตรวจพบดาวเคราะห์ดังกล่าว ใช้วิธีสังเกตแสงของดาวฤกษ์ดวงแม่ที่สลัวลง เมื่อดาวเคราะห์โคจรผ่าน นักวิทยาศาสตร์มีวิธีการตรวจสอบอยย่างรอบคอบระมัดระวังว่า ใช่ดาวเคราะห์หรือไม่ โดยอาศัยการสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ดูดาวบนโลก ในสหรัฐ และหมู่เกาะคานารี่ ในการยืนยันด้วย

Natalie Batalha นักดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย San Jose กล่าวว่า นักดาราศาสตร์มีแผนการตรวจสอบที่วางไว้เป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อน

ความแม่นยำสูงของกล้องดูดาวอวกาศ Kepler นั้น ไม่ใช่จะมีประโยชน์เฉพาะในการเสาะหาดาวเคราะห์รอบดาวฤกษ์ห่างไกลเท่านั้น แต่สามารถบอกให้นักวิทยาศาสตร์ ทราบเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับดาวเคราะห์ที่พบ และเกี่ยวกับดาวฤกษ์ดวงแม่ของดาวเคราะห์นั้นด้วย แล้วยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ มีความเข้าใจมากขึ้น เกี่ยวกับการก่อตัวของระบบสุริยะต่างๆ และวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ และดาวเคราะห์ของระบบสุริยะนั้นๆ

ขณะนี้ กล้องดูดาวอวกาศเคปเลอร์ กำลังสังเกตการณ์ดาวฤกษ์มากกว่า 100,000 ดวง ที่คิดว่าน่าจะมีดาวเคราะห์บริวาร ข้อสรุปอีกประการหนึ่ง ของการสำรวจของกล้องเคปเลอร์ ก็คือ ดาวฤกษ์ที่สังเกตการณ์อยู่นั้น จำนวนมากมาย มีปรากฏการณ์ต่างๆ น้อยกว่าที่คาดคิด เช่นมีพายุและการประทุระเบิด หรือการแผ่รังสีพวยพุ่ง ที่เป็นพิษเป็นภัยต่อดาวเคราะห์บริวารน้อยกว่าที่เข้าใจกัน ซึ่งอาจทำให้มีความหวังว่า วันใดวันหนึ่งจะพบดาวเคราะห์ห่างไกลที่มีสภาพการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการมีสิ่งมีชีวิต

Katy Pilachowski นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Indiana กล่าวว่า เป็นข่าวดีสำหรับวงการดาราศาสตร์ เพราะถ้าหากดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ ในจำนวนมากกว่า 100,000 ดวง ที่กล้องเคปเลอร์สังเกตการณ์อยู่ เป็นดาวฤกษ์ที่ค่อนข้างสงบ ไม่มีปรากฏการณ์มากแล้ว ก็อาจมีช่องทางที่สิ่งมีชีวิตจะมีวิวัฒนาการได้ และทำให้มีโอกาสเพิ่มขึ้นว่า อาจค้นพบดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิตอย่างโลกเราในเวลาต่อไป



XS
SM
MD
LG