ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การประชุม เรื่องการเตรียมตัวรับผลกระทบ ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงเทพมหานคร


นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่จาก 10 ประเทศในเอเชีย ที่มาร่วมการประชุม เรื่องการเตรียมตัวรับผลกระทบ ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงเทพมหานครในสัปดาห์นี้ เรียกร้องให้มีความร่วมมือกันมากขึ้นในส่วนภาคพื้น

ศูนย์ความพร้อมรับสถานการณ์ภัยพิบัติ และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของสหประชาชาติ หรือ IPCC จัดการประชุมนี้ เพื่อประเมินความเสี่ยง และลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมการประชุมกล่าวว่า ขณะที่รัฐบาลบางประเทศ อย่างเวียดนาม ขอให้กระทรวงทบวงกรมต่างๆ ร่วมมือกันในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นนั้น แต่หลายประเทศในเอเชียยังล้าหลัง ในการดำเนินงานเรื่องนี้ คณะกรรมการ IPCC เตือนว่า เมืองใหญ่ๆ หลายเมืองทั่วเอเชีย รวมทั้ง กรุงดักคะ กรุงมะนิลา และกรุงเทพมหานคร มีความเสี่ยงต่อการที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และพายุที่ร้ายแรงขึ้น อย่างในกรุงเทพมหานครนั้น มีการเตือนว่า ประชาชนนับล้านคน อาจถูกกระทบกระเทือนจากน้ำท่วมหนักภายในปี 2593 หรือในอีกราว 40 ปีข้างหน้า หากไม่มีการดำเนินงานโดยเร็วเพื่อลดปัญหานั้น

ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก มาร์กาเร็ท ชาน เตือนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังจะเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อสาธารณสุข และว่าประชาชนในประเทศ กำลังพัฒนาจะถูกกระทบกระเทือนหนักที่สุด

นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่จาก 10 ประเทศในเอเชีย ที่กำลังประชุมกันในกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาเรื่องการเตรียมตัว รับสถานการณ์ด้านสภาพอากาศที่รุนแรงสูง คาดกันว่า ขณะที่โลกร้อนขึ้น จะส่งผลให้เกิดภัยพิบัติด้านสภาพอากาศ อย่างเช่นน้ำท่วมหนัก พายุเขตร้อนที่รุนแรงขึ้น และความแห้งแล้งร้ายแรง

ผู้เชี่ยวชาญที่เสนอรายงาน ต่อที่ประชุมที่ศูนย์ความพร้อมรับสถานการณ์ภัยพิบัติ ร่วมกับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของสหประชาชาติจัดขึ้น กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่บรรดาผู้กำหนดนโยบาย จะต้องร่วมมือและประสานงานกัน ในการหาทางลดความเสี่ยง และเตรียมตัวพร้อมรับสถานการณ์

ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าว VOA รายงานจากสำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก นครเจนีวา ว่า ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก Margaret Chan แสดงความผิดหวัง ที่ไม่มีความตกลงออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน ในเรื่องความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการประชุมที่กรุงโคเป็นฮาเก็น เมื่อเดือนธันวาคม แต่เธอกล่าวว่า มีการดำเนินงานที่สำคัญ ซึ่งเธอเชื่อว่า จะส่งผลให้มีข้อตกลงเพื่อหยุดยั้ง หรือหน่วงเหนี่ยวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในที่สุด

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ความสัมพันธ์เกี่ยวโยง ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับสุขภาพนั้น เห็นได้ชัด และยกตัวอย่างว่า ประชาชนหลายล้านคน จะประสบปัญหาน้ำมากเกินไป หรือไม่ก็น้อยเกินไป อุทกภัยใหญ่โตอาจคร่าชีวิตคนเป็นจำนวนมาก โรคภัยไข้เจ็บ ที่มากับน้ำท่วมสกปรกเป็นพิษ อาจทำให้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากได้ และยังผลเสียหายต่อพืชผลได้ ขณะเดียวกัน บางพื้นที่ที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล มีน้ำน้อยเกินไป เกิดความแห้งแล้งยาวนาน ก็จะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ เช่นกัน

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า มีการคาดการณ์กันว่า ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า หากสถานการณ์ยังคงทรุดลงต่อไป การผลิตภาคเกษตรกรรม และการกสิกรรมเพื่อยังชีพในอัฟริกาจะลดลงมากถึง 50 % หากเป็นไปตามนั้นจริง ก็จะเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างหนัก และความอดอยากหิว และการขาดสารอาหารอย่างร้ายแรงและเรื้อรัง

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การร้อนขึ้นของโลกจะค่อยเป็นค่อยไป แต่ปรากฏการณ์ด้านสภาพอากาศที่รุนแรง จะบ่อยขึ้นและร้ายแรงขึ้น และส่งผลลุ่มลึก ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่จะซ้ำร้ายยิ่งขึ้นไปอีก และจะเป็นเรื่องลำบากยากยิ่ง ในการจัดการรับมือกับภาระที่เพิ่มขึ้นมา เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บ และประเทศกำลังพัฒนา และประเทศยากจนจะกระทบกระเทือนมากที่สุด



XS
SM
MD
LG