ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้เชี่ยวชาญเกรงภาวะโลกร้อน อาจมีผลต่อความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในเอเชีย ตอ.เฉียงใต้


ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะอากาศเกรงว่า ภาวะโลกร้อนจะมีผลต่อความผันผวนปรวนแปรของสภาภูมิอากาศในแถบเอเชีย ตอ.เฉียงใต้ และเตือนว่าประชาชนควรจะตระหนัก และเตรียมรับมือ ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น

ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มานานกว่า 10 ปี วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับพายุต่างๆ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ดร. อานนท์กล่าวว่า ความถี่ของการเกิดพายุนั้น เกิดขึ้นเป็นวงจรรอบ 30 ปี แต่เตือนว่าการที่โลกร้อนขึ้น อาจทำให้มีพายุบ่อยขึ้น และขนาดใหญ่ขึ้นรุนแรงขึ้น และว่า ขณะนี้ กำลังอยู่ในช่วงที่จะมีพายุมากขึ้นตามวงจรปกติ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง อย่างเวียดนาม ซึ่งมีพายุตามรอบวงจร 30 ปี แต่ช่วงเวลากระชั้นขึ้น มีขนาดใหญ่และความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งหมายถึงว่า บริเวณภาคใต้ของเวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์ จะถูกพายุโหมกระหน่ำ มากกว่าในเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา

ที่เมืองกังเธอ ในภาคใต้ของเวียดนาม ประชาชนกำลังวิตกว่า ชีวิตความเป็นอยู่ และการทำมาหาเลี้ยงชีพของพวกเขา ซึ่งต้องอาศัยลำแม่น้ำโขง จะถูกกระทบกระเทือนจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในระยะสิบปีที่ผ่านมา มีพายุมากกว่าแต่ก่อน พายุในปี 2550 ทำให้เกิดน้ำท่วม และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เข้ามาเปื้อนปนน้ำในลำแม่น้ำโขง นอกจากนั้นยังเกิดการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ และน้ำในการเพาะปลูกด้วย

ประชาชนหลายล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสี่ยงต่อผลกระทบ ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างความแห้งแล้ง หรือไม่ก็ฝนตกหนักอยู่แล้ว และกำลังเป็นที่วิตกมากขึ้นในเรื่องความเสี่ยงในอนาคต

ฮัดซัน โมอิรุดดิน แห่งโครงการย่อยในงานพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ของธนาคารพัฒนาเอเชียกล่าวว่า อากาศที่ร้อนขึ้น อาจส่งผลให้ผลผลิตมวลรวมของอาณาบริเวณนี้ลดลงเกือบ 7 % ภายในสิ้นศตวรรษนี้ เพราะผลผลิตพืชผลต่างๆ อาจลดลง หรือชุมชนต่างๆ ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน ฮัดซัน โมอิรุดดินกล่าวว่า นอกจากจะมีผลถึงการเติบโตขยายตัวและการพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว ยังจะมีผลร้ายแรงอื่นๆ ติดตามมา รวมทั้งเรื่องเงินทุนสำหรับการบรรเทาทุกข์ด้วย

ดร. อานนท์ สนิทววงศ์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศกล่าวว่า ประชาชน จะต้องอยู่อย่างกลมกลืนสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ อย่างบ้านควรก่อสร้างโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย และยกตัวอย่าง เมื่อก่อนเคยมีบ้านเสาสูงเพื่อให้พ้นน้ำท่วม

ผู้เชี่ยวชาญหวังกันว่า ประชาชนจะปรับตัวปรับวิถีชีวิต ให้สอดคล้องกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบ ของความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศลงได้

XS
SM
MD
LG