ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เด็กที่สัมผัสกับสิ่งสกปรกมาตั้งแต่เด็ก อาจมีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ มากกว่าเด็กที่พ่อแม่ รักษาความสะอาดมากไป


รายงานวิจัยชิ้นล่าสุดจากมหาวิทยาลัย Northwestern รัฐ Illinois ชี้ให้เห็นว่า เด็กที่สัมผัสกับสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคตั้งแต่ยังเล็ก เช่น วิ่งหรือคลานเล่นตามพื้นดินหรือทานอาหารที่ตกพื้นแล้วนั้น อาจมีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ รวมทั้งโรคหัวใจได้ดีกว่าเด็กที่ผู้ปกครองรักษาความสะอาดมากเกินไป

นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Northwestern รัฐ Illinois ตรวจสอบข้อมูลจากการศึกษากลุ่มตัวอย่างชาวฟิลิปปินส์ที่เกิดจากแม่ 3,327 คนในช่วงคริสทศวรรษ 1980 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลทุกๆ 2 เดือนในช่วงแรกเกิดจนอายุ 2 ขวบ หลังจากนั้นเก็บข้อมูลทุก 4-5 ปี จนกลุ่มตัวอย่างมีอายุครบ 22 ปี การวิจัยที่ว่านี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาว่าสิ่งแวดล้อมในวัยเด็ก จะมีผลกระทบต่อการสร้างโปรตีนของร่างกาย ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดภาวะอักเสบในร่างกายได้อย่างไร ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า เด็กเล็กที่เติบโตภายใต้สภาพแวดล้อมที่สะอาดมาก หรือถูกสุขลักษณะมากเกินไปนั้น อาจส่งผลให้ระดับภาวะการอักเสบในร่างกายสูงกว่าปกติ และเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลายชนิด รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจด้วย

จากผลการตรวจเลือดกลุ่มตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่า แม้ทารก และเด็กฟิลิปปินส์มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดต่อต่างๆ ได้ง่ายกว่าเด็กอเมริกัน แต่เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เด็กฟิลิปปินส์กลับมีระดับโปรตีน C-reactive หรือ CRP ต่ำกว่าคนอเมริกันเป็นสัดส่วนอย่างน้อย 80% โดยคนฟิลิปปินส์ในวัย 20 ต้นๆ มีระดับความเข้มข้นของ CRP ราว 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร ในขณะที่คนอเมริกันวัยเดียวกัน มีระดับความเข้มข้นของ CRP สูงราว 1-1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งระดับ CRP นี้ ถ้ายิ่งมากก็ยิ่งชี้ให้เห็นว่ามีภาวะการอักเสบของร่างกายมากขึ้นด้วย โดยรายงานการวิจัยที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ Proceedings of the Royal Society ระบุว่า เด็กที่ไม่มีโอกาสสัมผัสกับสิ่งสกปรกจากสัตว์ไม่ว่าจะเป็น หมู หมา กา ไก่ที่เลี้ยงไว้อย่างอิสระตามบ้านเรือนนั้น มีโอกาสจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีระดับ CRP สูงกว่า

แต่ได้ยินแล้ว คุณผู้ฟังอย่าเพิ่งรีบไปหาซื้อสัตว์เลี้ยงมาให้ลูกๆ เล่น เพราะกลัวเด็กๆจะสะอาดเกินไป เพราะคุณ Thomas McDade นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Northwestern ผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้บอกว่า สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่ามีสัตว์เลี้ยงหรือไม่มี แต่เป็นเรื่องที่ว่าเด็กๆ มีโอกาสสัมผัสกับจุลินทรีย์ หรือแบคทีเรียตั้งแต่ยังเล็กบ้างหรือไม่ เพราะจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียนั้น ไม่ได้เป็นเพียงเชื้อโรคที่นำความเจ็บป่วยมาให้เท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างเครือข่ายภูมิคุ้มกันโรคอีกด้วย

และเพื่ออธิบายถึงความสำคัญ ของการเปิดรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายบ้างนี้ คุณ McDade ที่มีลูกชายอายุ 2 ขวบครึ่งบอกว่า ก็คล้ายๆ กับงานวิจัยหรือคำแนะนำที่ว่า ถ้าอยากจะกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของเด็กเล็ก ก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เขาได้เปิดรับด้วยประสาทสัมผัสต่างๆ รวมทั้งสร้างเครือข่ายสังคมให้กับเขาด้วยนั่นเอง ภูมิคุ้มกันโรคก็เช่นกัน ต้องมีการสร้างสิ่งแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยต่อการเปิดรับเชื้อโรคบ้าง ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป เพื่อพัฒนาการของการสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อเด็กๆเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป และสำหรับเจ้าลูกชายวัยกำลังซนนั้น เจ้าของรายงานวิจัยชิ้นนี้บอกว่า เมื่อลูกทำขนมตก เขาไม่ลังเลเลย ที่จะบอกให้ลูกเก็บขนมขึ้นมาใส่ปากกินได้เลย แบบไม่ต้องกลัวเชื้อโรค และไม่ต้องนับว่ากี่วินาทีแล้ว


XS
SM
MD
LG