ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานฉบับใหม่ของ UNICEF เกี่ยวกับวิธีง่ายๆ ที่ช่วยป้องกันเด็กเสียชีวิตด้วยโรคขาดสารอาหาร


กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF รายงานว่า ราว 1 ใน 3 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่ป้องกันได้ในแต่ละปี ล้วนแล้วแต่เป็นโรคขาดสารอาหาร และในรายงานยังชี้ว่า การขาดสารอาหาร ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง ดังนั้นร่างกายของเด็กๆ เหล่านั้น จึงไม่แข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับอาการเจ็บป่วยที่อาจคร่าชีวิตของพวกเขา อย่างเช่น โรคปอดบวม หรือโรคท้องร่วง ได้

รายงานของ UNICEF ระบุว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบราว 2 ร้อยล้านคน ในประเทศกำลังพัฒนา ต้องทนทุกข์กับการที่มีสภาพร่างกายที่ผอมแกร็น เนื่องมาจากภาวะทุโภชนาการเรื้อรังของมารดาในขณะตั้งครรภ์ และปัญหาการขาดอาหารในวัยเด็ก ในรายงานยังชี้ว่า จากการประเมินดูจากความเจริญเติบโตของร่างกายเด็กแล้ว พบว่า 24 ประเทศในเอเชีย และแอฟริกา มีเด็กซึ่งมีปัญหาขาดอาหารเรื้อรังของโลกอยู่มากกว่า 80%

คุณ Ann Veneman ผู้อำนวยการบริหารขององค์การ UNICEF กล่าวว่า สุขภาพของเด็กๆ มักจะแยกไม่ออกจากสุขภาพของมารดา เธอตั้งข้อสังเกตว่า 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตในเด็ก หรือราว 3 ล้านรายต่อปี มักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนแรกของชีวิต และ 69% ของการเสียชีวิตในหมู่เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ก็มักจะเกิดขึ้นในช่วงปีแรกของชีวิตด้วย

คุณ Ann กล่าวอีกว่า ในช่วง 1,000 วันแรก ตั้งแต่วันที่มารดาเริ่มตั้งครรภ์ จนกระทั่งวันครบรอบวันเกิดปีที่ 2 ของเด็ก เป็นช่วงที่สำคัญต่อการพัฒนาของเด็กๆ มากที่สุด

คุณ Ann Veneman ผู้อำนวยการบริหารขององค์การ UNICEF กล่าวว่า การขาดอาหารในช่วง 2 ปีแรกของชีวิตนั้น อาจลดความสามารถในการพัฒนาประสาทรับรู้ของเด็ก ตลอดจนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเรียนของเด็ก และบั่นทอนขีดความสามารถในการทำงานเลี้ยงตัวเองเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย

การศึกษาหลายๆ ฉบับยังชี้ว่า การขาดธาตุไอโอดีนเพียงอย่างเดียว อาจส่งผลให้ไอคิวลดลงถึง 13.5 จุดเลยทีเดียว

รายงานของ UNICEF แนะนำแนวทางที่ง่ายๆ ประหยัด และมีประสิทธิภาพในการช่วยชีวิตเด็กๆ จำนวนมาก ตลอดจนป้องกันภาวะแคะแกร็นในหมู่เด็กหลายวิธี ตัวอย่างเช่น การให้นมแม่ในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่สุดในการช่วยชีวิตเด็ก และยังแนะนำให้ให้นมแม่อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย จนกระทั่งเด็กมีอายุ 2 ขวบ

อีกวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน คือการให้อาหารเสริม จำพวกวิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ อย่างเช่นเกลือไอโอดีน และวิตามิน A เป็นต้น

UNICEF เตือนด้วยว่า อนาคตของคนรุ่นใหม่ จะตกอยู่ในอันตราย หากไม่เพิ่มความพยายามอย่างเร่งด่วนในการรับมือกับปัญหาการขาดโภชนาการ และถ้ายังไม่เร่งให้ความสนใจในการจัดการแก้ปัญหาการขาดโภชนาการในหมู่เด็ก และหญิงมีครรภ์ในวันนี้ ความสูญเสียก็จะเพิ่มสูงขึ้นในวันหน้า


XS
SM
MD
LG