ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หลายประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย กำลังเปลี่ยนกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ


การที่การค้าของโลกหดตัวในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลของหลายประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย พินิจพิจารณาเกี่ยวกับกลยุทธ์ทางเศรษกิจ ที่ทำให้มีความเจิญเติบโตในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานั้นกันใหม่

ผู้สื่อข่าว วอยซ ออฟ อเมริกา รอน คอร์เบ้น รายงานจากกรุงเทพมหานครว่า นักเศรษฐศาสตร์และผู้วิเคราะห์ด้านธุรกิจกล่าวว่า เอเชียกำลังเปลี่ยนท่าทีโดยหันไปเพ่งที่เรื่องการค้าขายกันในภูมิภาคและลดการพึ่งพาอาศัยตลาดในสหรัฐ และทางยุโรปลง

การส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอคือตัวการที่ทำให้เศรษฐกิจทางเอเชียเฟื่องฟู กลยุทธ์ดังกล่าว ทำให้ประเทศทางเอเชียตั้งแต่ญี่ปุ่นไปจนถึงอินโดนีเซียมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น และช่วยลดภาวะยากจน

แต่ในปีนี้ องค์การการค้าโลกระบุว่าการค้าของโลกหดตัวลง ในอัตราที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนในระยะเกือบ 80 ปีมานี้ รายได้จากการส่งออกในหมู่ประเทศที่ยากจน เหลือเกินของโลกลดลงไป 40 กว่าเปอร์เซ็นต์

ขอให้ดูเศรษฐกิจไทยเป็นตัวอย่าง ประเทศไทยส่งสินค้าไปจำหน่ายยังสหรัฐและยุโรปราวร้อยละ 25 ของสินค้าออกทั้งหมด แต่ในปีนี้ การส่งสินค้าไปจำหน่ายยังประเทศเหล่านั้นลดลงราว 17 เปอร์เซ็นต์

คุณเกียรติ สิทธิอมร ประธานของสำนักงานผู้แทนการค้าของประเทศไทย กล่าวไว้ตอนนี้ว่า "การที่การค้าโลกหดตัวทำให้มีการพูดกันมาก เกี่ยวกับเรื่องการทำให้การเติบโตกลับมีความสมดุลย์กันอีก วิกฤติการณ์แสดงให้เราเห็นแล้วว่าการพึ่งการส่งออกอย่างเดียวนั้น ก่อให้เกิดปัญหาและทำให้เศรษฐกิจเปราะบางได้"

คุณเกียรติกล่าวด้วยว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ ควรเอาใจใส่ในเรื่องการส่งเสริมเทคโนโลยีและทักษะในท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อเพิ่มคุณค่าของสินค้าอุตสาหกรรม

ส่วนคุณราวี รัตนายาเก เศรษฐกรผู้เป็นผู้อำนวยการของคณะกรรมการเศรษฐกิจ และสังคมสำหรับภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า การที่การส่งออกลดลงทำให้มองเห็นได้ชัดว่าเศรษฐกิจไทยล่อแหลมต่อการที่การค้าของโลกขึ้นๆ ลงๆ อย่างรุนแรง

เขากล่าวไว้ตอนนี้ว่า "ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกพึ่งตลาดนอกประเทศ อย่างเช่นตลาดสหรัฐและยุโรปมากเกินไป และไม่เอาใจใส่เรื่องความต้องการภายในประเทศ หรือความต้องการของภาคพื้น ฉนั้นเราจึงพูดได้ว่า เราจำเป็นจะต้องมีความสมดุลย์ในบรรดาแหล่งที่ทำให้เกิดความเจริญเติบโต ถ้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกไม่พึ่งตลาดนอกประเทศมากมายอย่างนี้แล้ว วิกฤติการณ์ย่อมจะกระทบกระเทือนภาคพื้นนี้น้อยลงได้"

ในระยะไม่กี่ปีมานี้ ประเทศไทยเจาะตลาดใหม่ๆ โดยอาศัยข้อตกลงการค้าเสรีในภาคพื้น

ตลาดใหม่ที่ว่านี้รวมถึงอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และภายในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เศรษฐกร ชามิกา สิริมณีกล่าวว่า "ประเทศเหล่านั้น เบนความสนใจจากตลาดอเมริกัน และยุโรปไปหาตลาดในภาคพื้น ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่สนใจทำอย่างนั้น แต่ประเทศทั่วภาคพื้นก็สนใจทำเช่นนั้นด้วย ประเทศเหล่านั้นเห็นแล้วว่า การพึ่งตลาดใหญ่ ก่อให้เกิดความเสียหายมากแค่ไหน?

คุณ ชามิกา สิริมณี กล่าวต่อไปว่า จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้การค้าในภาคพื้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างเช่นการลดระบบราชการลง

คุณ ชามิกา สิริมณี กล่าวไว้ตอนนี้ว่า "เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้าน มีแบบฟอร์มให้ต้องกรอกมากมาย ทำให้เกิดอุปสรรคเยอะแยะ เพียงเพื่อการค้าขายกันระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เราจำเป็นต้องยกเลิกเรื่องที่เป็นอุปสรรคภายในเหล่านี้ ถ้าเราต้องการพึ่งภาคพื้นเพื่อให้การส่งออกของเราภายในภาคพื้นขยายตัว"

ส่วนนักวิเคราะห์ด้านธุรกิจอย่างเช่น คุณจักรชัย ชมพงศ์ นักวิชาการและสมาชิกของกลุ่มที่มีชื่อว่า " เพ่งไปที่โลกตอนใต้ "กล่าวว่าการถกอภิปราย เพื่อมองหาทางทำให้มั่นใจได้ว่าการขยายตัวจะทรงเสถียรภาพนั้นยังมีน้อยมาก คุณจักรชัยกล่าวว่า ตนต้องการเห็นว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ เสนอกลยุทธ์ที่เป็นทางเลือกสำหรับการขยายตัวทางการค้า ด้วยความกล้าหาญมากขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า จะใช้กลยุทธ์เดิมในการขับดันเศรษกิจต่อไป และว่าตลาดขนาดย่อมๆ ในประเทศจะไม่เข้ามาแทนที่ การส่งออกในฐานะเป็นกลไกขับดันที่วิเศษกว่า คาดว่าการส่งออกของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า แต่เรื่องที่สนใจกันก็คือว่าการค้าจะเบนไปจากสหรัฐ และยุโรปมาสู่ทางเอเชียมากแค่ไหน?


XS
SM
MD
LG