ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทหารอเมริกันฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก จนถึงระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่


ปัจจุบันตัวเลขการฆ่าตัวตายของทหารอเมริกันสูงขึ้นมาก จนถึงระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐรายงานว่า เฉพาะปีนี้มีทหารอเมริกันปลิดชีพตนเองไปแล้ว 211 คน ทั้งที่กำลังปฎิบัติหน้าที่และไม่ได้ปฎิบติหน้าที่ ในขณะที่มีรายงานใหม่ออกมาถึงสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ว่าเป็นต้นเหตุให้ทหารอเมริกันเหล่านั้นฆ่าตัวตาย

ผู้สื่อข่าว Melinda Smith มีรายละเอียดของรายงานดังกล่าว และเรื่องราวของคุณแม่ที่ต้องสูญเสียลูกชายอดีตทหารแห่งกองทัพสหรัฐ เพราะการฆ่าตัวตายมาเสนอ

ทหารอเมริกัน Thomas John Sweet ที่ 2 หรือที่ใครๆ เรียกกันว่า TJ ใฝ่ฝันอยากเป็นทหารรับใช้ชาติมาตั้งแต่เด็ก เขาสมัครเป็นทหารหลังจากจบชั้นมัธยม และแม้จะมีความผิดปกติทางหัวใจ อีกทั้งยังเป็นโรคสมาธิสั้น และมีปัญหาในการเขียนหนังสือ แต่ทางกองทัพก็อ้าแขนรับเขาไว้ พลทหาร TJ ปรับตัวเข้ากับชีวิตในค่ายทหารอย่างรวดเร็ว และชอบการฝึกฝน เขาถูกส่งตัวไปยังอิรักเมื่อเดือนกันยายนปี 2003 แต่แล้วในอีก 2 เดือนต่อมาในวันขอบคุณพระเจ้าเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ปี 2003 พลทหาร Thomas John Sweet ได้เสียชีวิตด้วยอาวุธปืน

คุณ Liz Sweet แม่ของพลทหาร TJ เล่าว่า หลังจากลูกชายของเธอถูกสั่งกักบริเวณในค่ายทหารและถูกผู้บังคับบัญชาปลด เพียง 5 นาทีก็มีเสียงปืนดังขึ้น และมีคนพบศพ TJ ใต้บันไดนอกค่ายทหารนั้น ไม่กี่วันต่อมามีรายงานส่งมาว่า ลูกชายของเธอฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม คุณ Liz Sweet เชื่อว่าแม้ลูกชายของเธอจะมีอาการป่วยทางจิต แต่ก็เป็นความผิดของกองทัพส่วนหนึ่ง ที่ละเลยไม่แยแสต่ออาการดังกล่าว ไม่มีการริบอาวุธปืน และไม่มีกระบวนการตรวจสอบหรือการรักษาหรือการแจ้งเตือนล่วงหน้าใดๆ แม้ TJ จะบอกให้กองทัพทราบก่อนหน้านั้นแล้วว่า มีความกังวลต่ออาการป่วยทางจิตของตัวเอง

ทางด้านนายพลจัตวาแห่งกองทัพบกสหรัฐ Colleen McQuire ผู้ดูแลหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในกองทัพ ชี้ว่าควรมีการปรับเปลี่ยนวิธีตรวจประเมินสุขภาพจิตทหาร ก่อนที่จะสายเกินไป และว่าผู้บังคับบัญชาจำนวนมาก ไม่ส่งทหารของตนไปรับการรักษา ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องการให้ทหารเหล่านั้น ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ในขณะที่ พลเอก Peter Chiarelli ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ ที่ทหารสักคนต้องเจ็บป่วยโดยไม่สามารถบอกใครได้ เพราะเกรงว่าจะถูกเพื่อนทหารหรือผู้บังคับบัญชาเยาะเย้ย

ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ เชื่อว่าความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงาน หรือครอบครัว สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย ของคนที่จิตใจหดหู่หรือเศร้าสร้อยอยู่แล้วได้ คุณหมอ Robert Ursano จิตแพทย์แห่ง Uniform Services University ของรัฐบาลอเมริกันหัวหน้าผู้สืบสวนปัญหาการฆ่าตัวตายในกองทัพกล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่สมาชิกในครอบครัว ต้องช่วยกันจับตามอง เมื่อใครเกิดอาการเศร้าหมองสลดหดหู่ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงพฤติกรรมการฆ่าตัวตายได้


XS
SM
MD
LG