ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จระเข้พันธ์แท้ หรือจระเข้พันธุ์สยามในกัมพูชา


ในเดือนนี้ โครงการเพาะพันธุ์จระเข้พันธุ์แท้ หรือจระเข้พันธุ์สยาม ที่ตกอยู่ในอันตรายว่ากำลังจะสูญพันธุ์ ดังที่มีการเสนอไว้นั้น ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีข่าวว่า ที่ศูนย์อนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่งในกัมพูชามีจระเข้พันธุ์แท้ หรือจระเข้พันธุ์สยามอยู่ 35 ตัว

เมื่อยี่สิบปีมาแล้วมีการประกาศว่าจระเข้พันธุ์สยาม ที่อยู่ตามป่านี้สูญพันธุ์ไปแล้ว ครั้งหนึ่งจระเข้พันธุ์สยามนี้ เรียกได้ว่ามีอยู่ทั่วไปในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่โดนล่า เนื่องจากความต้องการหนังอันอ่อนนุ่มของจระเข้ที่ว่านี้ เสียจนเกือบจะสูญพันธุ์

แต่ในปีพุทธศักราช 2544 นักวิจัยค้นพบจระเข้พันธุ์สยามจำนวนไม่กี่ตัว ในเขตที่เป็นป่าของกัมพูชา ทำให้จระเข้พันธุ์นี้ ถูกจัดมาไว้ในกลุ่มที่ใกล้จะสูญพันธุ์อยู่รอมร่อ

ในเดือนนี้มีข่าวดีคือ การตรวจสอบดีเอ็นเอในหมู่จระเข้ 69 ตัวที่ศูนย์อนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่ง นอกกรุงพนมเปญพบว่ามีจระเข้พันธุ์สยามเสีย 35 ตัว

คุณแอดดัม สตาร์ ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์จระเข้ แห่งองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์สัตว์และพืช ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งร่วมงานกับรัฐบาลเขมรในการ คุ้มครองจระเข้พันธุ์สยามกล่าวว่า ขณะนี้มีจระเข้พันธุ์สยามเหลือแค่ 250 ตัวตามเขตป่าของโลก และส่วนมากอยู่ในกัมพูชา

คุณแอดดัม สตาร์กล่าวไว้ตอนนี้ว่า "ในกรณีนี้ กัมพูชาสำคัญมาก จระเข้พันธุ์สยาม เคยมีอยู่ทั่วภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นที่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ประเทศไทย ลาว กัมพูชาและ เวียดนาม ขณะนี้เราพูดได้ว่า จระเข้พันธุ์สยามที่ยังเหลืออยู่นั้น ระหว่าง 95 ถึง 99 เปอร์เซ็นต์หรือราวๆ 250ตัวอยู่ตามเขตป่าของกัมพูชา

คุณเนี๊ยก รัตนาเปค ผู้อำนวยการของศูนย์อนุรักษ์สัตว์ป่า พนมตาเมา และยังดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์จระเข้ของกัมพูชาด้วยนั้น กล่าวว่าการทดสอบดีเอ็นเอ ซึ่งช่วยให้ค้นพบว่าจระเข้ตัวไหนเป็นจระพันธุ์สยามนั้น สามารถช่วยเอื้ออำนวยช่องทางที่สำคัญอย่างยิ่งยวด สำหรับการอนุรักษ์จระเข้พันธุ์สยาม

ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า จระเข้ตัวไหนเป็นพันธุ์สยามแท้ หรือพันธุ์ทางนี้ เกิดจากการที่สวนจระเข้นำจระเข้สยามพันธุ์แท้ ไปผสมพันธุ์กับจระเข้พันธุ์อื่นที่โตเร็วกว่า ตัวใหญ่กว่า และดุร้ายมากกว่านั่นเอง หนังของจระเข้พันธุ์ทางยังคงนุ่ม และสามารถถลกหนังของจระเข้พันธุ์ทาง มาใช้ได้เร็วขึ้นกว่าเก่ามากทีเดียว

คุณเนี๊ยก รัตนาเปคกล่าวว่า การดำเนินงานขั้นต่อไปก็คือการตั้งโครงการเพาะพันธุ์ขึ้น ที่ศูนย์ที่เขาเป็นผู้อำนวยการ โดยใช้จระเข้สยามพันธุ์แท้ที่เจริญวัยเต็มที่แล้ว 6 ตัว ผลการตรวจสอบพบว่า จระเข้ทั้ง 6 ตัวมิได้เกี่ยวดองกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่แสนจะสำคัญ ในด้านพันธุกรรมหลากหลาย

เจ้าหน้าที่ของศูนย์จะเลี้ยงลูกจระเข้ไว้ 2 ปี แล้วจะปล่อยเข้าป่า เพื่อเพิ่มโอกาสแห่งการอยู่รอดให้ลูกจระเข้เหล่านั้น

คุณเนี๊ยก รัตนาเปคกล่าวว่า จุดประสงค์มีว่าจะทำให้จระเข้พันธุ์สยามหลุดพ้น จากกลุ่มสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์อยู่รอมร่อเสียที คือให้มีจระเข้พันธุ์สยามที่โตเต็มวัยในป่า 500 ตัว โครงการนี้นับว่า เป็นโครงการระยะยาว เนื่องจากว่าจระเข้พันธุ์สยามจะโตเต็มวัยตอนอายุ 15 ปี

แต่ทว่า กัมพูชาเป็นที่พึ่งสุดท้าย ของจระเข้พันธุ์สยามแล้ว

คุณ แอดดัม สตาร์ กล่าวว่า การที่มนุษย์เข้าไปล่วงล้ำเขตที่อยู่ของจระเข้ และแผนการที่กัมพูชา จะสร้างเขื่อนขนาดใญ่มหึมาสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า จากพลังน้ำที่จะสกัดกั้นแม่น้ำหลายสายนั้น ยังนับว่าเป็นอุปสรรคขวางกั้นอยู่

แต่ทว่าอุปสรรคเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และการตรวจสอบดีเอ็นเอที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศไทย เป็นผู้ทำช่วยให้โครงการนี้รุดหน้า



XS
SM
MD
LG