ลิ้งค์เชื่อมต่อ

องค์การอวกาศญี่ปุ่น มีแผนการสร้างสถานีผลิตกระแสไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์


มีรายงานว่า องค์การอวกาศของญี่ปุ่นกำลังมีแผนการ ที่จะสร้างสถานีผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศในเวลา 20 ปีข้างหน้า ด้วยความหวังว่า จะผลิตกระแสไฟฟ้าโดยสิ้นค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนถูกกว่าแหล่งการผลิตบนโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การสำรวจอวกาศของญี่ปุ่น ประกาศแผนการที่จะสร้างสถานีผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในวงโคจรนอกชั้นบรรยากาศของโลก ฟังแล้วอาจเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่องค์การอวกาศญี่ปุ่นตั้งใจทำจริง

รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งเลือกกลุ่มบริษัท และคณะนักวิจัยที่จะมาทำงานในโครงการมูลค่า 21,000 ล้านดอลล่าร์นี้ให้สามารถผลิตพลังงงานสะอาดได้อย่างไม่จำกัด โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะให้ความฝันนี้เป็นจริงขึ้นมาเริ่มงานได้ภายในปีพุทธศักราช 2573 หรือในอีกราว 20 ปีข้างหน้า

การที่ญี่ปุ่นมีแหล่งทรัพยากรพลังงานน้อย และต้องอาศัยน้ำมันเชื้อเพลิงนำเข้าจากต่างประเทศอย่างมาก ญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำรายหนึ่ง ในการทำงานด้านพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานยั่งยืนแบบอื่นๆ และปีนี้ญี่ปุ่นก็ตั้งเป้าหมายใหญ่ไว้ ในเรื่องการลดการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกด้วย แต่แผนการที่ห้าวหาญที่สุดนั้น คือ ระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ในอวกาศดังที่กล่าวมา

ระบบดังกล่าวจะมีจานหรือแผงรับแสงอาทิตย์ขนาดยักษ์ เป็นเนื้อที่หลายตารางกิโลเมตร อยู่ในวงโคจรสถิตย์นอกชั้นบรรยากาศที่หุ้มห่อโลกออกไป และส่งกระแสไฟฟ้ากลับมายังโลกโดยการใช้ลำแสงเลเซอร์หรือคลื่นไมโครเวฟ นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า เซลรับแสงอาทิตย์ในอวกาศจะสามารถเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ไว้ได้มาก หรือเข้มขันกว่าการรับบนโลกราว 5 เท่า

นักวิจัยที่ Mitsubishi Heavy Industries กล่าวว่า ด้วยเหตุที่พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสะอาดและเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้ไม่รู้จักหมด จึงเชื่อว่ระบบนี้จะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานและลดการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าทำให้เกิดสภาพโลกร้อนได้

ความท้าทายยากลำบาก ซึ่งรวมทั้งการขนส่งลำเลียงวัสดุก่อสร้างขึ้นไปในอวกาศนั้น อาจดูเป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬารยิ่ง แต่ญี่ปุ่นเริ่มดำเนินงานโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2541 หรือกว่า 10 ปีมาแล้ว และในเดือนที่ผ่านมา กระทรวงเศรษฐการและการพานิชย์ กับกระทรวงวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นก็ได้ดำเนินงานก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง โดยเลือกบริษัทไฮเท็คยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นหลายบริษัทมาร่วมโครงการ โดยจัดตั้งเป็นสถาบันวิจัยขึ้นมาคือ สถาบัน The Institute for Unmanned Space Experiment Free Flyer ซึ่งมีบริษัทมิทสุบิชิอีเล็กทริค NEC ฟูจิตสึ และ Sharp รวมอยู่ด้วย

การดำเนินงานขั้นต่อไปก็คือ ในราวปี 2563 หรืออีกราว 10 ปีจากนี้ จะมีการส่งโครงสร้างแผงรับแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่มีความยืดหยุ่น ขึ้นไปทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าขีดความสามารถ 10 เมกะวัต ตามด้วยต้นแบบระบบที่มีขีดความสามารถ 250 เมกะวัต และในที่สุดจะเริ่มโครงการเต็มที่ขีดความสามารถ 1 กิกกะวัต หรือ หนึ่งพันล้านวัต ซึ่งพอๆ กับขีดความสามารถของโรงไฟฟ้าปรมาณูขนาดกลาง ตามเป้าหมายในปี 2573 ซึ่งคาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าที่ญี่ปุ่นจ่ายอยู่ในปัจจุบัน 6 เท่า


XS
SM
MD
LG