ลิ้งค์เชื่อมต่อ

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศระบุ การเพิ่มขึ้นของอัตราค่าแรงทั่วโลก ชะลอตัวลงอย่างมาก ตั้งแต่ปีที่แล้ว


รายงานค่าจ้างแรงงานโลกฉบับล่าสุด ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราค่าแรงที่แท้จริงทั่วโลก ชะลอตัวลงอย่างมากตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ และคาดว่าค่าแรงในปีนี้ จะยิ่งลดลงแม้จะมีสัญญาณแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวแล้ว ก็ตาม ILO เตือนว่าช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดรออยู่ข้างหน้า

รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO ระบุว่าการชะลอตัวลงทั่วโลกของอัตราค่าแรงที่แท้จริง ก่อให้เกิดคำถามถึงขอบเขตของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ว่าผลกระทบจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่างๆ ยุติลงรวดเร็วเกินไปหรือไม่

รายงานชี้ว่า ภาพรวมของค่าจ้างแรงงานในปีนี้ดูเหมือนจะแย่ลง แม้จะมีสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คุณ Patrick Belser ผู้เชี่ยวชาญของ ILO ด้านสภาพแวดล้อมที่ทำงาน และการจ้างงาน อธิบายว่า อัตราค่าแรงที่ลดลงมีความเกี่ยวข้องกับอัตราการว่างงาน

คุณ Belser บอกว่าตัวเลขอัตราการว่างงานระดับสูงในบางประเทศ แสดงให้เห็นว่าจะมีแรงกดดันมากขึ้นต่อค่าแรงในอนาคต เนื่องจากมีคนว่างงานและหางานทำมากขึ้น นายจ้างหรือบริษัทต่างๆ จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มอัตราค่าแรงเพื่อดึงดูดแรงงาน ดังนั้นจึงมีการคาดการณ์ว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้จะไม่สู้ดีนัก

รายงานของ ILO ยังบอกด้วยว่าค่าแรงที่แท้จริงในแต่ละเดือนของประเทศต่างๆ มากกว่า 1 ใน 4 ที่ทำการสำรวจ ไม่เพิ่มขึ้นหรือกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึง สหรัฐ ออสเตรีย คอสตาริกา แอฟริกาใต้และเยอรมันนี ในขณะที่บางประเทศ คิดหามาตรการลดผลกระทบของปัญหาค่าแรงต่ำ เช่น การขอให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนพื่อชดเชยค่าแรงที่ลดลง อันเนื่องมาจากการลดชั่วโมงการทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงการไล่พนักงานออกในช่วงเศรษฐกิจถดถอย

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข่าวดีอยู่บ้าง เมื่อคุณ Patrick Belser จาก ILO ระบุว่า อัตราค่าแรงขั้นต่ำทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา สูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ผู้เชี่ยวชาญของ ILO ผู้นี้บอกว่า อัตราค่าแรงขั้นต่ำในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่นสหรัฐ บราซิล รัสเซียและญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราเงินเฟ้อเมื่อปีที่แล้ว และประเทศเหล่านั้น ยังคงมีมาตรการจัดการกับค่าแรงขั้นต่ำในปี 2009 นี้ด้วย ซึ่ง ILO มองว่า อัตราค่าแรงขั้นต่ำคือเครื่องมือสำคัญ ในการปกป้องเสถียรภาพทางสังคม

ILO ระบุว่า ขณะนี้สหรัฐมีอัตราการว่างงงานสูงกว่าประเทศแถบยุโรปเล็กน้อย โดยตัวเลขในเดือนตุลาคมชี้ว่า สหรัฐมีอัตราการว่างงาน 9.4% เทียบกับ ระดับ 8.8% ของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ รายงานของ ILO ยังกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ควรเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากกว่าการลดต้นทุนค่าแรง และแรงงานควรมีอำนาจต่อรองเพียงพอที่จะปกป้องค่าแรงของตนด้วย


XS
SM
MD
LG