ลิ้งค์เชื่อมต่อ

Royal Society เรียกร้องให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ในโครงการวิจัยเพื่อความมั่นคงด้านอาหารโลก


สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของอังกฤษ Royal Society กำลังเรียกร้องให้มีการลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลล่าร์ ในโครงการวิจัยเพื่อความมั่นคงด้านอาหารโลก

Royal Society ระบุว่าภายในปี 2050 พืชที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม ควรกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดหาอาหาร ตอบสนองความต้องการของประชากรโลกที่คาดว่าจะมีจำนวนสูงถึง 9 พันล้านคน อย่างไรก็ตาม บรรดานักรณรงค์ชี้ว่า พืชที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมแล้วนี้ อาจทำลายวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อยได้

สถาบันวิทยาศาสตร์ Royal Society ในประเทศอังกฤษ เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการนำวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหาร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเกิดขึ้นภายในปี 2050 นี้ คุณ Jules Pretty หนึ่งในคณะนักวิจัยของ Royal Society กล่าวว่า คณะนักวิจัยได้พิจารณาปัจจัยหลายอย่างที่คาดว่า จะเปลี่ยนแปลงในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และแนวทางการบริโภคแบบใหม่ๆ

คุณ Pretty กล่าวว่าเมื่อรวมปัจจัยทุกอย่างเข้าด้วยกัน พบว่าเราอาจต้องการผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 50% หรือมากกว่า 100% จากพื้นที่ที่มีอยู่ ซึ่งนั่นคือความท้าทายสำคัญที่ควรตระหนักถึง สถาบัน Royal Society ระบุว่า เกษตรกรจำเป็นต้องหันมาปลูกพืชหลากหลายชนิด เพื่อสนองความต้องการด้านอาหารในอนาคต และเรียกร้องให้มีการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ ผ่านการผสมพันธุ์แบบดั้งเดิม และการดัดแปลงพันธุกรรมโดยตรง นักวิจัยผู้นี้บอกว่าทาง Royal Society ไม่ได้สนับสนุนให้ปลูกพืชทุกชนิดที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม แต่ให้เลือกพิจารณาเป็นกรณีไป เนื่องจากพืชเหล่านั้นสามารถถูกสร้างให้มีความทนทานต่อแมลงและโรคต่างๆ ได้ ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะเกษตรกรไม่ต้องใช้ยาปราบศัตรูพืชปริมาณมาก ดังเช่นการปลูกพืชแบบเดิม โดย Royal Society กำลังขอให้รัฐบาลอังกฤษจัดงบประมาณ เพื่อการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชและการบริหารจัดการด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนเป็นมูลค่าราว 3 พันล้านดอลล่าร์

อย่างไรก็ตาม อังกฤษ และหลายประเทศในยุโรป มีนโยบายต่อต้านการปลูกพืชที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม คุณ Kirtana Chandrasekaran แห่งองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม Friends of the Earth กล่าวว่า จากการศึกษาของธนาคารโลกเป็นเวลา 4 ปี พบว่าพืชที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม จะมีความสำคัญเพียงเล็กน้อย ต่อการจัดหาอาหารให้แก่คนยากจนทั่วโลก ในขณะที่การดัดแปลงพันธุ์พืชนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมากและมีการคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างเข้มงวด ซึ่งหมายความว่าอุตสาหกรรมนี้ถูกควบคุมโดยบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เท่านั้น

คุณ Chandrasekaran ยกตัวอย่างประเทศปารากวัย ที่เกษตรกรท้องถิ่นราว 9 หมื่นคนถูกไล่ที่จากที่ดินของพวกเขาเอง เพื่อหลีกทางให้กับการปลูกพืช ที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม ส่งผลให้มีคนยากจนในเมืองเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความมั่นคงด้านอาหาร ในแถบทางใต้ของอเมริกาใต้ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คุณ Chandrasekaran แนะนำว่าหากประเทศกำลังพัฒนาต้องการจะเพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ควรใช้วิธีลงทุนเพื่อสนับสนุนวิธีทำการเกษตรแบบดั้งเดิมจะดีกว่า

นักรณรงค์แห่งองค์กร Friends of the Earth ผู้นี้บอกว่า ความรู้ทางการเกษตรแบบดั้งเดิมนั้น ดำรงคงอยู่มาหลายร้อยหลายพันปีแล้ว แต่กลับถูกละเลยไม่สนใจ ไร้ซึ่งการสนับสนุนด้านนโยบาย และงบประมาณจากรัฐบาล ที่ดูเหมือนจะถูกครอบงำด้วยเรื่องการดัดแปลงพันธุกรรม

กระแสต่อต้านการดัดแปลงพันธุกรรมนี้ ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในอังกฤษ นักวิทยาศาสตร์หลายคนถอดใจ ล้มเลิกโครงการวิจัยและทดสอบในด้านนี้ ในขณะที่อีกหลายคนขอร้องให้รัฐบาลอังกฤษจัดให้มีการทดลองพืชที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมแล้ว ในสถานที่ที่ปลอดภัยและเป็นความลับ


XS
SM
MD
LG