ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหประชาชาติเห็นชอบในการใช้มาตรการใหม่ๆ ปราบปรามการทำทารุณกรรมทางเพศต่อสรี และเด็ก


คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เห็นชอบญัตติที่ให้นำมาตรการใหม่ๆ มาใช้ปราบการทำทารุณกรรมทางเพศต่อสตรี และเด็ก ในสถานการณ์ที่มีการสู้รบกันนั้นอย่างเป็นเอกฉันท์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ฮิลลารี คลิ้นตันเป็นประธานในการประชุม ซึ่งมีขึ้นในวันสุดท้ายของการที่สหรัฐ ทำหน้าที่เป็นประธานของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ฮิลลารี คลิ้นตัน กล่าวว่าระหว่างที่ท่านเดินทางเยือนแอฟริกาในเดือนกรกฎาคม ท่านพบผู้ที่โดนทำทารุณกรรมทางเพศ ในจังหวัดทางภาคตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในประเทศดังกล่าวมีรายงานว่ามีผู้ถูกข่มขืนกระทำชำเราเดือนละหนึ่งพันหนึ่งร้อยกว่าราย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ฮิลลารี คลิ้นตัน กล่าวไว้ตอนนี้ว่า "ความเสียหายทางกาย และด้านอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดแก่สตรีแต่ละราย และคนในครอบครัวของพวกเขาอันเนื่องมาจากการประทุษร้ายดังกล่าว และที่เกิดต่อสังคมนั้นเป็นเรื่องสุดที่จะกล่าวพรรณนาได้ การทำทารุณกรรมทางเพศดังกล่าวซึ่งทำในลักษณะของการหมดความเป็นมนุษย์นี้ มิได้ทำให้ปัจเจกชนเดี่ยวๆ ครอบครัวเดี่ยวๆ หมู่บ้านเดี่ยวๆ หรือกลุ่มเดี่ยวๆ โศรกเศร้ารันทดเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนการฉีกเส้นใยที่เชื่อมโยงเราในฐานะเป็นมนุษย์ด้วยกัน เรื่องดังกล่าวเป็นอันตรายต่อครอบครัว และประชาคม ลิดรอนเสถียรภาพของสังคม และทางการเมืองและบ่อนเซาะความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เราจำต้องเข้าใจว่าเรื่องดังกล่าว ฉุดเราไว้ไม่ให้ก้าวหน้าไป"

ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ฮิลลารี คลิ้นตัน กล่าวต่อไปว่า ทั้งๆ ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ผ่านญัตติต่อต้านมาแล้วสองฉบับก่อนหน้านี้ แต่การกระทำทารุณกรรมทางเพศ ในสถานการณ์ที่เกิดการสู้รบนั้นหาได้ส่างซาลงไปไม่ และในบางกรณี พฤติการณ์ดังกล่าวเกิดมากขึ้นเสียด้วยซ้ำไป

ท่านรัฐมนตรีตั้งข้อสังเกตว่ามติใหม่หมายเลข 1888 มีจุดมุ่งหมายที่จะให้สหประชาชาติ และประเทศที่เป็นภาคีมีมาตรการใหม่ๆ สำหรับป้องกันการกระทำทารุณกรรมทางเพศ และยุติการที่ผู้กระทำจะหนีลอยนวลไป และว่ามติดังกล่าว ขอให้เลขาธิการสหประชาชาติแต่งตั้งผู้แทนพิเศษเพื่อเป็นแกนนำ ประสานงานและสนับสนุนส่งเสริมเรื่องความเพียรพยายาม ที่จะทำให้การทำทารุณกรรมทางเพศยุติลง อีกทั้งมติดังกล่าวยังขอให้เลขาธิการสหประชาชาติ ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญไปทำงานร่วมกับรัฐบาลต่างๆ อย่างรวดเร็วเพื่อทำให้การปกครองตามตัวบทกฎหมายทวีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น แก้ไขเรื่องการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล และเพิ่มความรับผิดชอบ มติฉบับนั้นยังระบุถึงวิสัยที่อาจจะมีการคว่ำบาตร ด้วยว่ามติดังกล่าว ขอให้คณะกรรมการเกี่ยวกับการคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ พิจารณาแบบแผนของการกระทำทารุณกรรมทางเพศ เมื่อจะนำการคว่ำบาตรมาใช้หรือมุ่งเป้าไปที่การจะคว่ำบาตร

ตามข้อมูลสถิติของสหประชาชาติ ระหว่างที่มีการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ ในระวันด้าในช่วงคริสต์ศักราช 1990 สตรีโดนข่มขืนกระทำชำเรา ราวห้าแสนราย ระหว่างการสู้รบกันนานสิบปีในเซียร่า เลโอนนั้น สตรีโดนข่มขืนกระทำชำเราราวหกหมื่นสี่พันราย และในทุกวันนี้สตรีนับพันๆ รายในเขตดาร์โฟร์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ประสพเคราะห์กรรมแบบเดียวกัน แต่ปัญหานี้มิได้จำกัดวงอยู่แค่ในแอฟริกา การข่มขืนกระทำชำเรา ยังได้รับการนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงครามในประเทศทางแหลมบอลข่าน พม่า และศรีลังกาด้วย

กลุ่มสนับสนุนสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่เคยวิพากษ์ตำหนิสหประชาชาติ และคณะมนตรีความมั่นคงว่ายังดำเนินงานคุ้มครองสตรี เพื่อให้พ้นจากการทำทารุณกรรมแบบนั้น ยังไม่พอพากันแสดงความยินดีต้อนรับมติฉบับนั้น และเร่งเร้าเลขาธิการสหประชาชาติ ให้แต่งตั้งผู้แทนพิเศษโดยเร็ว


XS
SM
MD
LG