ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่โตของโลก ทุ่มเงินมหาศาล เพื่อผ่อนบรรเทาให้ภาวะเศรษฐกิจโลก


ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่โตของโลก ทุ่มเงินจำนวนมหาศาล เพื่อผ่อนบรรเทาให้ภาวะเศรษฐกิจโลก ลดการถดถอยที่กำลังดำเนินอยู่อย่างหนักหน่วงนั้นลง การใช้จ่ายเงินดังกล่าวทำให้ภาวะงบประมาณขาดดุลย์ในบางประเทศ รวมทั้งสหรัฐมีจำนวนมหาศาล

แต่มีการกล่าวขวัญกันด้วยว่า เรื่องนั้นช่วยทำให้มองเห็นสัญญาณที่ส่อว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวเมื่อเร็วๆ นี้

เมื่อตอนปลายปีที่แล้ว รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในโลกทุ่มเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ที่กำลังประสพภาวะซบเซาอย่างรุนแรงนั้น ให้ขยายตัวและลดอัตราดอกเบี้ยต่างๆ เพื่อให้บริษัทและผู้บริโภคสามารถกู้ยืมเงินได้ โดยเสียดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำ ทางเมืองจีน ธนาคารต่างๆ ให้กู้ยืมเงินไปเป็นจำนวนมากพอๆ กับผลผลิตมวลรวมของแคนาดา

แต่ทว่าขณะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รัฐบาลและนักธุรกิจเริ่มถกเถียงกันว่า ควรจะหยุดการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจเมื่อใดดี? ถ้าเลิกกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจผิดจังหวะแล้ว จะทำให้เกิดผลเสียหายอย่างมหาศาลตามมา

นายซู หมิน รองประธานคณะผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐบาลจีนกล่าวว่า ถึงแม้เศรษฐกิจที่สำคัญทางเอเชียอย่างเช่น เศรษฐกิจจีน ญี่ปุ่นและของเกาหลีใต้ขยายตัวในไตรมาสที่สองก็ตาม แต่การฟื้นตัวที่ว่านี้ยังคงเปราะบาง

นาย ซู หมิน กล่าวไว้ตอนนี้ว่า "การกล่าวว่าควรเลิกการกระตุ้นเศรษฐกิจในตอนนี้ออกจะเป็นการเร็วเกินไป เพราะโลกยังจำเป็นต้องพึ่งนโยบายการคลัง และการเงินเพื่อให้ภาวะเศรษฐกิจทรงเสถียรภาพ แต่ถ้าเลิกการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจช้าเกินสมควร ก็เป็นเรื่องเสี่ยงมากเกินไปเช่นกัน"

เขาตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องที่เสี่ยงมากที่สุดเรื่องหนึ่งได้แก่เรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งจะเกิดจากการใช้จ่ายเงินแบบปราศจากการยั้งคิด และกระตุ้นอุปสงค์มากเกินไป

เรื่องที่น่ากลัวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ราคาหุ้น และทรัพย์สินอาจสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า "สินทรัพย์ฟองสบู่" นายซู หมินกล่าวด้วยว่า เมื่อคำนึงถึงเรื่องสภาพคล่องในตลาด ซึ่งมีการอีดฉีดเงินเข้าไปเป็นจำนวนเก้าล้านล้านเหรียญสหรัฐ เรื่องหนี้สินของสหรัฐจำนวนสี่พันล้านล้านเหรียญสหรัฐแล้ว เห็นชัดว่าผู้คนวิตกกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อ เรื่องภาวะงบประมาณขาดดุลย์ของสหรัฐ และการเสื่อมค่าของเงินเหรียญสหรัฐ

นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนกำลังเป็นทุกข์ใจเกี่ยวกับภาวะ "สินทรัพย์ฟองสบู่" ในเมืองจีนกันแล้ว เงินสำหรับกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจนั้นรัฐบาลจีนนำไปใช้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของการสูญเสียตำแหน่งงาน ตามโรงงานนับล้านๆ ตำแหน่งอันเนื่องมาจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง แต่ก็พบกันด้วยว่า เงินสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมากอย่างเป็นกอบเป็นกำนั้น หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น และตลาดทรัพย์สินที่กำลังขยายตัวนั้นด้วย

ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนโยบายเศรษฐกิจ และการเงินญี่ปุ่น เฮอิโซะ ทาเคนากะ กล่าวว่าการทุ่มเงินของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ดีในระยะสั้น แต่เงินกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นจะต้องกำหนดเป้าหมายไว้ให้ และว่าในรายของประเทศทางเอเชีย การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่บางประเทศทุ่มเงินดังกล่าวเพื่อกอบกู้ฐานะของบริษัทที่ประสพความเสียหายแค่นั้น ซึ่งเขาไม่คิดว่าจะช่วยสลายปัญหาได้ นายเฮอิโซะ ทาเคนากะกล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจทางการเมืองว่า จะเลิกทุ่มเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อใด? รัฐบาลของหลายประเทศกำลังมองดูว่า เมื่อไหร่ระบบธนาคารกลางอเมริกันจะเริ่มกวดขันในด้านนโยบายการเงินของตน โดยการดึงเงินออกจากระบบเมื่อใด?


XS
SM
MD
LG