ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เป้าหมายการพยายามลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ของอินโดนีเซีย


อินโดนีเซียกล่าวว่า จะสามารถลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนออกมาได้มากกว่า 40% ในช่วง 20 ปีข้างหน้า ถ้ามีปัจจัยต่างๆ ที่จะอำนวยให้ทำเช่นนั้นได้ คำถามก็คือปัจจัยที่ว่านี้มีอะไรบ้าง

อินโดนีเซียมีประชากรสูงเป็นอันดับที่สี่ของโลก และถูกจัดไว้ในอันดับที่สามสำหรับประเทศที่ปล่อยแก๊สคาร์บอน ไดออกไซด์ออกมา ตามหลังสหรัฐและจีน แก๊สคาร์บอน ไดออกไซด์เป็นหนึ่งในบรรดาแก๊สเรือนกระจกพืชที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ทำให้บรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกร้อนมากขึ้น

80% ของคาร์บอนที่ปล่อยออกมา มาจากการตัดไม้ทำลายป่า การใช้พื้นที่หนองบึงปลูกต้นปาล์มน้ำมัน ป่าและพื้นที่หนองบึงเป็นแหล่งดูดซับแก๊สคาร์บอนเป็นอย่างดี เมื่อลดพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ลง ก็หมายความว่า มีการปล่อยแก๊สคาร์บอนออกสู่บรรยากาศโลกเพิ่มมากขึ้น

ผลการศึกษาของคณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศแห่งชาติของอินโดนีเซีย ที่เผยแพร่ออกมา กล่าวว่าอินโดนีเซียสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 40% ของระดับการปล่อยแก๊สในปี ค.ศ. 2005 ด้วยการคุ้มครองป่า ปลูกต้นไม้เพิ่ม และบำรุงรักษาพื้นที่หนองบึง และว่าถ้าทำเช่นนั้นได้ อินโดนีเซียจะช่วยลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนได้มากถึง 5% ของปริมาณแก๊สที่ปล่อยทั่วโลก

นักพฤกษศาสตร์ Erik Meijaard ซึ่งทำงานให้กับโครงการอนุรักษ์ลิงอุรังอุตังในอินโดนีเซีย บอกว่าเป็นความคิดที่ง่าย แต่จะทำให้ได้ผล จะต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่จัดเข้าที่ เช่น การนับคาร์บอน การวางแผนใช้ที่ดิน ระบบการปกครอง เหล่านี้เป็นต้น

ปัจจัยสำคัญที่จะต้องมีอีกอันหนึ่ง คือ เงินทุน ซึ่งคาดว่าจะต้องได้มาจากต่างประเทศ คณะกรรมการชุดนี้ ประมาณว่าจะต้องใช้งบประมาณราวๆ สามหมื่นสองพันล้านดอลล่าร์ การกำหนดมูลค่านี้ อาศัยใช้ระบบกลไกที่สหประชาชาติเสนอไว้ ที่คาดว่าจะนำออกมาใช้ในปี 2012 สำหรับการค้าคาร์บอนระหว่างผู้ปล่อยแก๊สคาร์บอนเกินโควต้า กับผู้ที่มีโควต้าเหลือ

ขณะเดียวกัน นาย Agus Purnomo เลขาธิการของคณะกรรมการชุดนี้ เชื่อว่าอินโดนีเซียจะใช้เวลาระหว่าง 5 ถึง 10 ปี สำหรับการนำระบบของสหประชาชาติที่ว่านี้ไปใช้ในประเทศ

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น การตัดไม้ทำลายป่า และการถากถางป่าและหนองบึงเพื่อการเพาะปลูกยังคงดำเนินอยู่ต่อไปในอัตรากว่าหกล้านไร่ต่อปี

รัฐมนตรี Rachmat Witolear ของกระทรวงสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า อินโดนีเซียกำลังพยายามลดการปล่อยคาร์บอนด้วยการปลูกต้นไม้หลายพันล้านต้น และว่าการแก้ปัญหาเรื่องบรรยากาศห่อหุ้มโลกร้อนขึ้นเป็นภาระของประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่า

รัฐมนตรี Witolear กล่าวว่า ไม่เห็นประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ใช้ความพยายามในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้ ประเทศกำลังพัฒนาจึงต่อต้านประเทศที่พัฒนาแล้วในเรื่องนี้

นักพฤกษศาสตร์ Erik Maijaard ยกย่องความพยายามของรัฐบาลอินโดนีเซียในช่วงสองสามปีมานี้เป็นอย่างมาก และเห็นด้วยกับนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในอินโดนีเซียว่า ถ้ามีเจตนารมณ์ทางการเมืองสนับสนุนความพยายามในด้านนี้แล้ว เป้าหมายที่ตั้งไว้จะไม่เกินความสามารถของอินโดนีเซีย


XS
SM
MD
LG