ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้นำประเทศกว่า 150 ประเทศ จะร่วมประชุมเรื่องสภาพบรรยากาศโลกครั้งที่ 3 ที่นครเจนีวา


ผู้จัดวางนโยบายและนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 1 พันคน รวมถึงบรรดาผู้นำ และรัฐมนตรีประเทศต่างๆ มากกว่า 150 ประเทศ จะเข้าร่วมในการประชุมเรื่องสภาพบรรยากาศโลกครั้งที่ 3 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในวันจันทร์นี้

การประชุมที่จัดขึ้นโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆรับมือกับปัญหาสภาพบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลง ด้วยการพัฒนาวิธีรวบรวมข้อมูลด้านภูมิอากาศและการแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐบาลประเทศต่างๆ

นักวิทยาศาสตร์คาดทำนายว่า ในช่วงหลายสิบปีข้างหน้าโลกจะร้อนขึ้น ซึ่งการประชุมใหญ่ที่กรุงโคเปนเฮเก้นในช่วงปลายปีนี้ จะมุ่งเน้นที่การหาวิธีบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ตลอดจนเสนอมาตรการลดระดับก๊าซที่ก่อให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน

อย่างไรก็ตาม องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกหรือ WMO ระบุว่าลำพังแค่การบรรเทาผลกระทบนั้นไม่เพียงพอ แต่ควรมีการตรวจสอบกระบวนการเกิดภาวะโลกร้อนเพื่อเตรียมการปรับตัวด้วย โดยเลขาธิการใหญ่ของ WMO คุณ Michel Jarraud กล่าวว่า ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องมีวิธีการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพบรรยากาศโลก ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือพายุเฮอริเคน

คุณ Jarraud บอกว่าในด้านสุขภาพ ควรมีการเตรียมรับมือโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ที่ไม่เคยมีโรคระบาดมาก่อนและอาจรุนแรงกว่าเดิม เช่น โรคมาลาเรีย เลขาธิการใหญ่ WMO ยังบอกด้วยว่า เกษตรกรในส่วนต่างๆของโลก จะต้องปรับตัวเพื่อรับมือสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง ซึ่งอาจหมายถึงการปรับปรุงระบบชลประทาน หรือการเลือกปลูกพืชที่ไม่ต้องพึ่งน้ำฝนมากนัก

คุณ Michel Jarraud กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง และรุนแรงกว่าเดิม ดังนั้น การรวบรวมข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างทันเวลา เกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่กำลังจะเกิดขึ้น จะช่วยในการตัดสินใจรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศได้ดียิ่งขึ้น นั่นหมายถึงว่าต้องมีความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างเครือข่ายการติดตามตรวจสอบสภาพอากาศ

เลขาธิการใหญ่ WMO ระบุว่าปัญหาสภาพบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลง คือปัญหาใหญ่ของโลก ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ และว่าแม้แต่ประเทศที่ใหญ่โตที่สุด ร่ำรวยที่สุดก็ไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้โดยลำพัง ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา จึงควรให้และแลกเปลี่ยนข้อมูลสภาพอากาศที่เชื่อถือได้ระหว่างกัน

คุณ Jarraud ยกตัวอย่างการเกิดพายุเฮอริเคนในทะเลแคริบเบียน ซึ่งจะเริ่มจากคลื่นที่ก่อตัวบริเวณนอกชายฝั่งตะวันตกของทวีปอาฟริกา ดังนั้นการที่สหรัฐจะสามารถรับมือกับพายุเฮอริเคนได้ดียิ่งขึ้นเป็นเวลา 5 วันล่วงหน้า สหรัฐจะต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากทางอาฟริกาเสียก่อน

เลขาธิการใหญ่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกบอกว่า ในการประชุมครั้งนี้จะมีการร่างแผนปฏิบัติงานเพื่อให้จัดการความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนได้ดียิ่งขึ้น และเน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศคือการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงเครือข่ายอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลด้านสภาพอากาศได้อย่างง่ายๆ


XS
SM
MD
LG