ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานความก้าวหน้าในการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์


ข้าวสาลีที่นำมาทำแป้งทำขนมปังหรือปรุงอาหารนั้น เป็นพืชที่เพาะปลูกเป็นรายปี ต้นข้าวสาลีจะตายไปหลังจากการเก็บเกี่ยว พอถึงฤดูกาลใหม่ในปีต่อไป ก็ต้องเพาะปลูกกันขึ้นมาใหม่ การเพาะปลูกซ้ำซากที่เดิมทุกปีอาจทำให้ดินกร่อน ฝนตกชะหน้าดินและปุ๋ยหลุดไหลตามน้ำไปลงแม่น้ำลำธารซึ่งเป็นมลพิษต่อแหล่งน้ำ มาตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Michigan State University ทดลองผสมพันธุ์ข้าวสาลีข้ามพันธ์กับหญ้าชนิดหนึ่ง ที่ขึ้นกลับมาใหม่ได้เองทุกปี ได้ข้าวสาลีชนิดใหม่ออกมา 6 ชนิดด้วยกัน และกำลังมีการทดลองปลูกข้าวสาลีข้ามพันธุ์เหล่านั้น

นักวิจัยอธิบายว่า ข้าวสาลีที่กลับงอกขึ้นมาใหม่ได้ทุกปีนั้น ถึงแม้ว่าจะต้องมาเพาะปลูกกันใหม่ในเวลา 3 – 4 ปี แต่ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และแรงงานในการคราดไถเพาะปลูกได้มากเลยที่เดียว นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Michigan State บอกว่า การทดลองปลูกข้าวสาลีผสมข้ามพันธุ์กับหญ้าชนิดหนึ่ง ให้เป็นธัญญพืชที่งอกกลับขึ้นมาได้ใหม่ทุกปีนั้น เป็นงานที่เชื่องช้าใช้เวลานาน กว่าจะทราบผลว่าข้าวสาลีพันธุ์ใหม่นี้ จะแข็งแรงและมีคุณภาพพอที่จะนำมาใช้เพาะปลูกกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันอย่างข้าวสาลีธรรมดาได้หรือไม่ คงใช้เวลาอีกหลายปี ตอนนี้นักวิจัยกำลังให้เกษตรกรช่วยทำการทดลองปลูกข้าวสาลีผสมข้ามพันธ์นี้ด้วย

หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์มากกว่า 300 คน ใน 25 ประเทศ ทำงานศึกษาวิจัยเชื้อพันธุ์ของวัวมากมายหลายพันธุ์ในส่วนต่างๆ ของโลกมานานหลายปี มีรายงานว่าตอนนี้งานทำผังโครงสร้างทางพันธุกรรมของวัวเสร็จสิ้นลงแล้ว

นักวิทยาศาสตร์ชี้แจงว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างดังกล่าว อาจนำมาช่วยในการปรับปรุงการผลิตนมสดและเนือวัวให้คุณภาพดีขึ้นได้ และอาจช่วยในการผลิตยารักษาโรคต่างๆ ได้ด้วย นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ผังโครงสร้างทางพันธุกรรมของวัว คล้ายกับของคนมากกว่าของหนูทดลองที่ใช้ในการทดลองยาใหม่ๆ นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอิลินอยส์ วิทยาเขต Urbana-Champaign คาดทำนายว่า ต่อไปในอนาคต อาจมีการพัฒนาพันธุ์วัวสำหรับการทดลองยามากขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ในโครงการทำผังโครงสร้างทางพันธุกรรมของวัว พบว่า เชื้อพันธุ์หรือ gene ทั้งหมดในผังโครงสร้างนั้น มีอยู่ราว 22,000 gene ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อพันธุ์แบบเดียวกับที่มีในผังโครงสร้างทางพันธุกรรมของคนเรา และของหนูทดลอง ตลอดจนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอื่นๆ

นอกจากจะช่วยในการปรับปรุงพันธุ์วัว ในการผลิตนมสดและเนื้อ และช่วยในด้านเภสัชกรรมแล้ว ผังโครงสร้างทางพันธุกรรมของวัว ยังอาจช่วยในการทำงานคุ้มครองอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์วัวมากมายหลายชนิดด้วย


XS
SM
MD
LG