ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปธน.บารัค โอบามา ยินดีต้อนรับการปล่อยตัวผู้สื่อข่าวอเมริกัน 2 คน ที่ถูกคุมตัวในเกาหลีเหนือ


ประธานาธิบดีสหรัฐ บารัค โอบามา ยินดีต้อนรับการปล่อยตัวผู้สื่อข่าวอเมริกัน 2 คนที่ถูกควบคุมตัวไว้ในเกาหลีเหนือ แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐกล่าวว่า ไม่จำเป็นว่าเรื่องนี้จะยังผลให้สัมพันธภาพระหว่างประเทศทั้งสองอบอุ่นขึ้นแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าว ยูนา ลี กับ ลอร่า หลิง เดินทางกลับถึงสหรัฐในเช้าวันศุกร์ ตามเวลาท้องถิ่นหลังจากได้รับอภัยโทษจากทางการเกาหลีเหนือระหว่างที่อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน ไปเยือนกรุงเปียงยางและพบกับผู้นำเกาหลีเหนือ

หลังจากเดินทางถึงลอสแอนเจลีส ผู้สื่อข่าว ลอราหลิง กล่าวที่สนามบินว่า ตอนที่อยู่ในเกาหลีเหนือนั้น เธอกับยูนา ลี หวั่นกลัวว่าจะถูกส่งตัวไปค่ายแรงงานเมื่อใดก็ได้ แต่ราว 30 ชั่วโมงก่อนเดินทางกลับถึงสหรัฐ ทั้งสองถูกเรียกตัวไปยังที่ประชุม และขณะที่เดินผ่านประตูเข้าไปในห้อง ทั้งสองตกตะลึงที่ได้เห็นอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน และทราบทันทีว่าฝันร้ายจบสิ้นลงแล้ว และตอนนี้ก็ได้เป็นอิสระและกลับบ้านแล้ว

ลอรา หลิง อายุ 32 ปีและ ยูนา ลี อายุ 36 ปี ทำงานให้กับโทรทัศน์เคเบิลเพื่อเยาวชน Current TV ที่อดีตรองประธานาธิบดี อาล กอร์ ร่วมก่อตั้ง ทั้งสองถูกเกาหลีเหนือจับขณะทำงานอยู่ที่พรมแดนจีนติดกับเกาหลีเหนือเมื่อเดือนมีนาคม และถูกพิพากษาลงโทษจำขังในค่ายแรงงาน12 ปีฐานข้ามแดนอย่างผิดกฏหมาย และมีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์

ในการต้อนรับผู้สื่อข่าวทั้งสองที่ลอสแอนเจลิส อดีตรองประธานาธิบดี อาล กอร์ แสดงความขอบคุณอดีตประธานาธิบดีคลินตัน และคณะผู้ร่วมงานในการดำเนินงานให้ผู้สื่อข่าวทั้งสองได้กลับบ้าน และขอบคุณประธานาธิบดีโอบามา ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐบาลรวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฮิลลารี่ คลินตัน ที่มีส่วนช่วยอย่างมากในการปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมครั้งนี้ ประธานาธิบดีบิล คลินตันเองไม่ได้แถลงใดๆ ที่สนามบินในลอสแอนเจลิส แต่มีคำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรร่วมแสดงความโล่งใจ ที่ผู้สื่อข่าวทั้งสองเป็นอิสระและได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย

ในการแถลงสั้นๆ ต่อผู้สื่อข่าวในกรุงวอชิงตัน ประธานาธิบดีโอบามาแสดงความโล่งใจ และว่า ภาพที่ผู้สื่อข่าวอเมริกันทั้งสอง ได้พบกับครอบครัวที่เห็นกันทางโทรทัศน์นั้น ก่อให้เกิดความสุขไม่แต่เพียงเฉพาะสำหรับครอบครัว ของทั้งสองเท่านั้น แต่สำหรับทั้งประเทศ

เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐกล่าวซ้ำหลายครั้งว่า การปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม ของนายคลินตันนั้น เป็นการส่วนตัว และการพบเจรจาระหว่างอดีตประธานาธิบดีคลินตัน กับผู้นำเกาหลีเหนือ กิมจองอิลไม่เกี่ยวโยงกับเรื่องอื่นใด นอกเหนือไปจากการปล่อยตัวผู้สื่อข่าวอเมริกันทั้งสอง ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ กำลังตึงเครียดในเรื่องที่ทางการเกาหลีเหนือทดลองปรมาณูและทดลองยิงขีปนาวุธเมื่อเดือนพฤษภาคม

ก่อนหน้านี้ในวันพุธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฮิลลารี่ คลินตัน กล่าวกับ NBC News ว่า ไม่ต้องการให้มีความสับสนในเรื่องการปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม ของอดีตประธานาธิบดีคลินตันครั้งนี้กับนโยบายของสหรัฐ ซึ่งยังคงให้ทางเลือกแก่เกาหลีเหนือว่าจะทำอย่างที่ทำอยู่ต่อไปหรือจะเต็มใจกลับมาร่วมการเจรจา 6 ฝ่ายเกี่ยวกับความประสงค์ของนานาประเทศที่จะให้เกาหลีเหนือเลิกโครงการปรมาฌูของตน

นายบิล คลินตันเป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐคนที่สอง ที่เดินทางไปเกาหลีเหนือ คนแรกนั้นคืออดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ซึ่งไปเมื่อปี 2537

อตีตเอกอัครรัฐทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติ จอห์น โบลตัน แสดงทัศนะว่า การเยือนเกาหลีเหนือของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน อาจเป็นการส่งสัญญาณแก่เกาหลีเหนือว่า สหรัฐเต็มใจจะเจรจากับผู้ก่อการร้าย และการปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม ของอดีตประธานาธิบดีคลินตันดังกล่าวอาจเป็นการส่งเสริมสนับสนุนผู้นำเกาหลีเหนือ กิมจองอิล ในทางการเมือง-ภายในประเทศ แต่เขาก็ยอมรับว่า การปฏิบัติงานนี้ อาจเปิดช่องทางสำหรับการกลับมีการเจรจา 6ฝ่ายกันใหม่ หรือมีการติดต่อเจรจาสองฝ่ายระหว่างสหรัฐ กับเกาหลีเหนือโดยตรงมากขึ้น ซึ่งเกาหลีเหนือมีจุดมุ่งหมายมานานกว่า 10 ปีแล้วที่จะกลับมีข้อตกลงทวิภาคีกับสหรัฐ ที่เคยทำสมัยรัฐบาลชุดประธานาธิบดีคลินตัน

ตอนนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐชุดปัจุบันจะรอดูต่อไปว่า เหตุการณ์คลี่คลายในสัปดาห์นี้จะปรากฏผลอย่างไรหรือไม่ ในเรื่องการดำเนินงานเพื่อสถาปนาสัมพันธภาพปกติระหว่างประเทศทั้งสอง


XS
SM
MD
LG