ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ความรักเพียงอย่างเดียว เพียงพอหรือไม่ ในการประคับประคองชีวิตคู่ให้ตลอดรอดฝั่ง


อะไรคือปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้สามี ภรรยาครองคู่กันได้ยาวนาน ความรักอย่างเดียว เพียงพอหรือไม่ ที่จะประคับประคองชีวิตคู่ให้ตลอดรอดฝั่ง นักวิจัยชาวออสเตรเลียได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้

การครองคู่กันตราบชัวกาลนานนั้น ไม่ได้มีเพียงในเทพนิยายเท่านั้น นักวิจัยชาวออสเตรเลีย พยายามศึกษาว่า มีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้มนุษย์เราสามารถประคับประคองชีวิตคู่ ให้ตลอดรอดฝั่งได้ และแน่นอน ปัจจัยที่ว่าย่อมมีมากมายเกินกว่าความรักเพียงอย่างเดียว

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ศึกษาพบว่า อายุของคู่รัก ความสัมพันธ์แต่หนหลัง หรือแม้แต่การสูบบุหรี่ ล้วนเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลในการทำให้ชีวิตแต่งงานยืนยาว

การศึกษาที่มีชื่อว่า “What’s Love Got to do With It” หรือ ความรักมีอิทธิพลในการครองคู่อย่างไรบ้าง? ได้ติดตามดูคู่รัก 2,500 คู่ ทั้งที่แต่งงานกันแล้ว หรือว่าที่อยู่ด้วยกันเฉยๆ ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2550 เพื่อศึกษาดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้คู่รักเหล่านั้นยังคงอยู่ด้วยกัน และอะไรบ้างที่ให้พวกเขาต้องหย่าร้าง หรือแยกทางกัน

การศึกษาพบว่า สามีที่มีอายุมากกว่าภรรยา 9 ปีเป็นต้นไป มีแนวโน้มที่จะหย่าร้างมากกว่าคนอื่นๆ ถึงสองเท่า เช่นเดียวกับบรรดาสามีที่แต่งงานก่อนอายุ 25 ปี ก็มีแนวโน้มในการหย่าร้างมากเช่นกัน

นอกจากนี้ การมีลูกติด ก็มีอิทธิพลต่อความยั่งยืนของชีวิตคู่ หรือต่อความสัมพันธ์ฉันท์หญิงชายด้วย หนึ่งในห้าของคู่ที่มีบุตรก่อนแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นจากความสัมพันธ์ครั้งก่อน หรือจากคู่แต่งงานคนปัจจบันก็ตาม ล้วนแต่แยกทางกัน เมื่อเปรียบเทียบกับคู่ที่ไม่มีบุตรก่อนการแต่งงาน ซึ่งมีอัตราการหย่าร้างเพียง 9% เท่านั้น

การศึกษายังชี้ว่า ผู้หญิงที่ต้องการมีบุตรมากกว่าคู่ของตน มักมีแนวโน้มในการหย่าร้าง มากด้วยเช่นกัน

พ่อแม่ของคู่แต่งงาน หรือคู่รัก ก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ การศึกษาพบว่า 16% ของหญิงและชายที่พ่อแม่ของพวกเขาเคยแยกทาง หรือหย่าร้างกันมาก่อน มีแนวโน้มที่จะหย่าร้างมากกว่าคู่ที่พ่อแม่ไม่ได้แยกทางกัน

นอกจากนี้แล้ว ผู้ที่ผ่านการแต่งงานมาแล้ว 2-3 ครั้ง มีแนวโน้มที่จะหย่าร้างจากคู่ของตนมากกว่า คู่ที่แต่งงานกันครั้งแรกถึง 90%

และไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเลย ที่เงินก็มีบทบาทในเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน อาสาสมัคร 16% ที่ระบุว่าตนยากจน หรือมีสามีที่ตกงาน ล้วนแต่แยกทางกัน เมื่อเทียบกับคู่ที่มีความมั่นคงทางด้านการเงิน ซึ่งมีอัตราการหย่าร้างเพียง 9%

และคู่แต่งงาน หรือคู่รัก ที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสูบบุหรี่ ความสัมพันธ์ก็มักจะไปไม่ตลอดรอดฝั่งด้วย

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยต่างๆ หลายประการที่พบในการศึกษานี้ แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อการหย่าร้างอย่างชัดเจนนัก อย่างเช่นจำนวน และอายุของเด็กที่เกิดมาจากคู่แต่งงาน และสถานภาพด้านการงานของภรรยา เป็นต้น

XS
SM
MD
LG