ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทยาศาสตร์พบว่าสัตว์น้ำบางชนิด อาจได้รับอันตรายจากภาวะโลกร้อน


นักวิทยาศาสตร์ค้นพบหลักฐานว่า เวลานี้สัตว์น้ำจำพวกมีเปลือกเช่น หอย กุ้ง ปูและอื่นๆ กำลังได้รับอันตรายอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน

โดยรายงานฉบับใหม่ระบุว่า นอกจากการทำประมงที่มากเกินไปและโรคต่างๆ แล้ว ปัจจุบันหอยนางรมกำลังมีขนาดเล็กลง และมีความแข็งแรงลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากก๊าซที่ก่อให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก ได้ปรับเปลี่ยนสภาพความเป็นกรดของน้ำบริเวณปากอ่าว และแหล่งอาศัยของหอยนางรมตามธรรมชาติ

นักวิจัยที่ศูนย์วิจัยด้านสิ่งแวดล้อม Smithsonian ในเมือง Edgewater รัฐ Maryland ศึกษาผลกระทบของระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น ในชั้นบรรยากาศโลกซึ่งเกิดจากมลพิษทางอุตสาหกรรม ว่าจะส่งผลอย่างไรต่อตัวอ่อนของหอยนางรม 2 สายพันธุ์ ได้แก่พันธ์ตะวันออกซึ่งมักพบแถบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของสหรัฐ และพันธ์ Suminoe ซึ่งเป็นพันธ์พื้นเมืองในเอเชีย

สำหรับหอยนางรมที่โตเต็มที่แล้วนั้น จะอาศัยอยู่ก้นทะเลแถวปากอ่าว แต่ตัวอ่อนหอยนางรมจะลอยอยู่เหนือผิวน้ำประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก่อนที่จะดำดิ่งลึกลงไปก้นอ่าว นักวิทยาศาสตร์ต้องการทราบว่า เมื่อผิวน้ำทะเลมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น เพราะระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นนั้น จะส่งผลต่อตัวอ่อนหอยนางรมอย่างไร

คุณ Whitman Miller นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งศูนย์วิจัย Smithsonian กล่าวว่าปกตินั้น มหาสมุทรจะคอยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ราวครึ่งหนึ่งของที่ผลิตออกมาจากร่างกายสิ่งมีชีวิต แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินจะลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ และละลายไปกับน้ำทะเล ทำให้น้ำทะเลเป็นกรด กระบวนการดังกล่าวก่อให้เกิดกรดคาร์บอนิก ซึ่งแปรสภาพกลายเป็นเกลือคาร์บอเนต และธาตุเหล็กไบคาร์บอเนตที่มีฤทธิ์กัดกร่อนเปลือกหอยนางรม และเปลือกสัตว์น้ำต่างๆ

นักวิจัยผู้นี้บอกว่าสมมติฐานของเขาก็คือ ตัวอ่อนหอยนางรมจะเติบโตช้าลง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระดับสูง เปรียบเทียบกับช่วงสมัยก่อนที่จะเกิดอุตสาหกรรม โดยนักวิจัยได้จำลองสภาพน้ำทะเลก่อนยุคอุตสาหกรรม แล้วทดลองด้วยการวัดขนาดเปลือกหอยนางรมและวิเคราะห์ระดับสารแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างเปลือกหอย

คุณมิลเลอร์พบว่า หอยนางรมพันธุ์ตะวันออกที่พบบริเวณชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ มีการตอบสนองไวมากต่อระดับความเป็นกรดด่างของน้ำทะเล ทำให้มีการเติบโตอย่างเชื่องช้าแ ละการก่อตัวของสารแคลเซียมคาร์บอเนต เป็นเปลือกหอยลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีระดับแคลเซียมคาร์บอเนตน้อยกว่าหอยนางรมในยุคก่อนอุตสาหกรรมราว 42% และมีขนาดเล็กลงกว่าหอยนางรมยุคก่อนถึง 16% การที่ระดับแคลเซียมในเปลือกหอยลดลงนั้น ส่งผลให้ตัวอ่อนโตช้า และลอยตัวอยู่เหนือน้ำทะเลนานขึ้น ซึ่งก็มีโอกาสจะตกเป็นเหยื่อของสัตว์อื่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่าหอยนางรมพันธุ์เอเชีย ไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพความเป็นกรดมากนัก ซึ่งอาจเป็นเพราะหอยนางรมพันธุ์ Suminoe ได้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลมาแล้วนั่นเอง

อีกด้านหนึ่ง คุณ Alan Duckworth หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ Blue Ocean กล่าวว่า นอกจากปัญหาภาวะโลกร้อนดังกล่าวแล้ว การทำประมงที่มากเกินไปและมลพิษตามแนวชายฝั่ง ก็เป็นสาเหตุที่ทำลายอุตสาหกรรมสัตว์น้ำประเภทกุ้ง หอยและปูที่มีมูลค่ามหาศาลได้เช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้บอกว่า อุตสาหกรรมดังกล่าวมีมูลค่าราว 10,000 ล้านดอลล่าร์ทั่วโลก การที่น้ำทะเลมีสภาพเป็นกรดเพิ่มขึ้น จึงอาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงทางเศรษฐกิจ นอกเหนือไปจากการทำให้เปลือกของสัตว์น้ำเหล่านี้อ่อนแอลง หรืออาจถึงขั้นสูญหายไปได้ในที่สุด


XS
SM
MD
LG