ลิ้งค์เชื่อมต่อ

WHO เตือนโรคมะเร็ง อาจเป็นภัยคุกคามสัตว์หายากหลายพันธุ์ ให้สูญพันธุ์ก็เป็นได้


องค์การอนามัยโลกประเมินว่า โรคมะเร็งเป็นต้นเหตุที่ทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตราว 13% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด และยังเป็นตัวการที่ทำให้สัตว์ป่าสายพันธุ์ต่างๆ เสียชีวิตในอัตราที่ใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้ โรคมะเร็งยังอาจเป็นภัยคุกคามสัตว์หายากหลายพันธุ์ให้สูญพันธ์ไปก็เป็นได้ และนั่นคือความท้าทายอันใหญ่หลวงของบรรดานักอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า

คนทั่วไปเริ่มรู้จักสัตว์หน้าตาแปลกๆ ที่ชื่อ Tasmanian Devil หรือปีศาจแทสเมเนียนเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว เมื่อ Warner Brothers นำเจ้าสัตว์หายากพันธุ์นี้มาสร้างเป็นตัวการ์ตูนคู่กับเจ้ากระต่าย Bug Bunny จนโด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน

Tasmanian Devil คือสัตว์กินเนื้อจำพวกจิงโจ้ มีกระเป๋าหน้าท้องไว้เลี้ยงลูก หูตั้ง ฟันแหลมคม ตาโตสีดำและขนสีน้ำตาลตลอดตัว พบเห็นได้ในเกาะแทสมาเนียของออสเตรเลียเท่านั้น รายงานระบุว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวน Tasmanian Devil ลดลงมากจาก 150,000 ตัว เหลือเพียงไม่ถึง 75,000 ตัวในปัจจุบัน คุณหมอ Denise McAloose นักพยาธิวิทยาแห่งโครงการสุขภาพขององค์การอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Society ระบุว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์ชนิดนี้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วคือโรคมะเร็งที่ก่อให้เกิดเนื้องอกบนใบหน้า ซึ่งเซลล์เนื้องอกนี้สามารถติดต่อกันได้ผ่านบาดแผลที่เกิดจากการต่อสู้หรือการกัด ก่อนที่เนื้อร้ายนั้นจะลุกลามไปเรื่อยๆ ซึ่งหากไม่มีการป้องกันในเรื่องนี้ คุณหมอ McAloose บอกว่าเจ้า Tasmanian Devil อาจสูญพันธุ์ได้ในเวลาไม่นาน

นักพยาธิวิทยาผู้นี้แนะนำว่า วิธีรักษาพันธุ์สัตว์ชนิดนี้ไว้คือการกันสัตว์ตัวที่ไม่ติดเชื้อออกมา แล้วผสมพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ไว้ จนกว่าจะค้นพบวิธีรักษาหรือป้องกันโรคดังกล่าว

ในบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Nature Reviews Cancer ฉบับเดือนกรกฏาคม คุณหมอ Denise McAloose ระบุไว้ว่าโรคมะเร็งในสัตว์นั้น สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป เอาแน่เอานอนไม่ได้ ในมหาสมุทรต่างๆ เต่าทะเลสีเขียวที่อพยพย้ายถิ่น ป่วยเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดเนื้องอกตามผิวหนังและอวัยวะภายใน สิงโตทะเลแคลิฟอร์เนียจำนวนมาก เป็นเนื้องอกที่อวัยวะสืบพันธุ์ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ในขณะที่โรคมะเร็งลำไส้คือสาเหตุหลักอันดับ 2 ที่ทำให้ปลาวาฬเบลูก้าบริเวณปากแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ในอเมริกาเหนือเสียชีวิต คุณหมอ McAloose กล่าวว่าในกรณีของปลาวาฬเบลูก้านั้น มลพิษในแม่น้ำน่าจะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ โดยพบว่าหอยแมลงภู่ซึ่งเป็นอาหารของปลาวาฬชนิดนี้ในบริเวณดังกล่าว มีระดับสารพิษสะสมอยู่สูงมาก คุณหมอ McAloose ยังบอกด้วยว่า บทความของเธอในนิตยสาร Nature Reviews Cancer พยายามมองโรคมะเร็งในมุมมองของนักอนุรักษ์ เพื่อเริ่มทำความเข้าว่า โรคมะเร็งส่งผลต่อจำนวนสัตว์ป่าเมื่อใดหรือไม่ และสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคร้ายนี้ขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นมลพิษจากสิ่งแวดล้อมที่เราสามารถช่วยให้บรรเทาเบาบางลงได้

นักอนุรักษ์ผู้นี้ยังขอร้องให้มีการดูแลตรวจสอบและระวังระไว ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคร้ายในสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังจะช่วยในเรื่องของการศึกษาด้านชีววิทยามนุษย์ และพัฒนาด้านการดูแลรักษาสุขภาพของประชากรโลกได้ด้วย


XS
SM
MD
LG