ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การบังคับใช้แรงงาน และการลักลอบนำไปบังคับค้าประเวณีในอินโดนีเซีย


อินโดนีเซียเป็นแหล่งที่มา ของแรงงานที่อพยพเคลื่อนย้ายไปทำงานตามที่ต่างๆ ที่ใหญ่มากแหล่งหนึ่ง แต่ผู้ใช้แรงงานเหล่านั้น ซึ่งบ่อยครั้งทีเดียวเต็มใจที่จะเสี่ยงอย่างใหญ่หลวง เพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจนั้น กำลังเผชิญกับการโดนคุกคาม เกี่ยวกับการถูกบังคับใช้แรงงาน และการโดนลักลอบนำไปบังคับให้ค้าประเวณี

สถานเอกอัครราชทูตอเมริกัน ณ กรุงจาการ์ตาจัดการประชุมเพื่อให้เกิดความตระหนักเกี่ยวกับประเด็นปัญหา ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันฮิลลารี คลินตันเรียกว่าระบบทาสยุคใหม่นี้มากขึ้น

เมื่อปีพุทธศักราช 2549 คุณเอลลี อานิตาเดินทางจากบ้านเกิดในอินโดนีเซีย ไปทำงานเป็นเลขานุการิณีที่ประเทศดูบาย แต่ทันทีที่เธอไปอยู่ในดูบาย เธอก็โดนนายจ้างลวนลามทางเพศ พอเธอร้องเรียนเข้า นายจ้างก็ให้เธอเลือกสองทาง

คุณ เอลลี อานิตากล่าวไว้ตอนนี้ว่า "นายจ้างบอกว่า ให้กลับไปอินโดนีเซียโดยไม่ได้เงิน หรือให้ไปยังประเทศใหม่" เมื่อเธอถามว่าประเทศใหม่ที่ว่านี้คือประเทศไหน? นายจ้างบอกว่าคือเคอร์ดิสถานซึ่งนายจ้างบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิตาลี

จริงๆ แล้ว คุณเอลลี อานิตาโดนส่งไปยังเคอร์ดิสถาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิรัก ที่เคอร์ดิสถาน เธอโดนสำนักงานจัดหางานปฏิบัติในทางที่มิชอบ และโดนกักตัวไว้โดยที่เธอมิได้สมัครใจ ในที่สุด เธอหนีจากที่ควบคุมออกไปได้โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศ ที่คอยให้ความช่วยเหลือ

คุณ เอลลี อานิตา เล่าเรื่องที่เธอประสบมากับตัวเองนี้ให้ฟัง ระหว่างที่มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องการลักลอบค้ามนุษย์ ที่ทางสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันจัดขึ้น ณ กรุงจาการ์ตา กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันรายงานว่า มีผู้ที่ตกอยู่ในสภาพถูกบังคับใช้แรงงาน และที่โดนบังคับให้ค้าประเวณีนั้นอยู่ราวๆสิบสองล้านคน และในจำนวนนั้นเป็นสตรี และเด็กหญิงเสียห้าสิบหกเปอร์เซ็นต์ เพราะเหตุที่อินโดนีเซียเป็นแหล่งที่มาของแรงงานค่าแรงต่ำที่ใหญ่แหล่งหนึ่ง พลเมืองงของอินโดนีเซียจึงตกอยู่ในฐานะล่อแหลม

เอกอัครราชทูต ลูอิส ซีเดบาคา ผู้อำนวยการของสำนักสอดส่อง และปราบการลักลอบค้ามนุษย์แห่งกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันกล่าวว่า การรักษาการณ์ตามกฎหมายและการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในอินโดนีเซียนั้น กระเตื้องดีขึ้นกว่าเก่า แต่ก็ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่อีก

เอกอัครราชทูต ลูอิส ซีเดบาคากล่าวไว้ตอนนี้ว่า "ดูเหมือนว่าระบบการคุ้มครองผู้ที่เดินทางไปทำงานยังที่อื่นๆ ยังขาดระเบียบข้อบังคับ ที่จะช่วยให้กลั่นกรองสำนักงานด้านแรงงานที่แสวงประโยชน์จากผู้ใช้แรงงานนั้นได้อย่างแท้จริง เมื่อเร็วๆ นี้ สื่อในอินโดนีเซียรายงานเกี่ยวกับเรื่องสาวใช้อินโดนีเซียหลายราย ผู้เดินทางไปทำงานที่มาเลเซีย และโดนนายจ้างปฏิบัติแบบมิชอบแถมยังยึดหนังสือเดินทางของพวกเธอไว้ด้วย

ผู้อำนวยการฝ่ายการคุ้มครองผู้ใช้แรง ที่ไปทำงานในต่างประเทศของกระทรวงแรงงานอินโดนีเซีย อี กู๊สตี อาร์กากล่าวว่า รัฐบาลหยุดออกวีซ่าให้สตรีอินโดนีเซียไปทำงานที่มาเลเซีย จนกว่าจะมีการแก้ไขบทบัญญัติบางประการเสียก่อน

เขากล่าวไว้ตอนนี้ว่า "เรื่องที่ว่านั้นรวมถึงการแก้ไขบทบัญญัติ ที่อนุญาตให้นายจ้างยึดหนังสือเดินทางได้นั้นด้วย"

แต่เอกอัครราชทูต ลูอิส ซีเดบาคา แห่งกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันกล่าวว่า อินโดนีเซียจำเป็นจะต้องดำเนินคดี ให้ความคุ้มครองและการป้องกันอย่างแข็งขันยิ่งกว่าเดิมเพื่อปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดสำหรับการกำจัดเรื่องการลักลอบค้ามนุษย์


XS
SM
MD
LG