ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาวิจัย เพื่อช่วยเด็กวัยรุ่น หลีกเลี่ยงการเป็นโรคซึมเศร้าหดหู่


อาการหดหู่ซึมเศร้า เป็นความผิดปกติทางจิตใจที่มีอยู่ทั่วไป และเป็นสาเหตุชั้นนำของความไม่สมประกอบของสภาพจิตทั่วโลก ในรายที่เป็นอย่างรุนแรงนั้น นำไปสู่การฆ่าตัวตายประมาณ 850,000 รายทั่วโลกในแต่ละปี

นักวิทยาศาสตร์กำลังทำงานศึกษาวิจัยที่จะช่วยให้เด็กวัยรุ่นเรียนรู้ทักษะต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นโรคซึมเศร้าหดหู่

โรคซึมเศร้าหดหู่ อาจมีผลให้เกิดความไม่สมประกอบทางสภาพจิต หรืออารมณ์ความรู้สึกในบรรดาเด็กวัยรุ่นได้ ซึ่งจะมีผลกระทบถึงการเรียน ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะฆ่าตัวตาย และมีปัญหามากขึ้นเกี่ยวกับการเสพยาเสพติด และเครื่องดื่มมึนเมา

นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Duke ที่เสนอผลการศึกษาเด็กวัยรุ่นกับโรคซึมเศร้าหดหู่ ต่อที่ประชุมที่นครยิวยอร์คกล่าวว่า ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคซึมเศร้าหดหู่นั้น มักจะเริ่มมีอาการตั้งแต่วัยเด็ก นักวิจัยจึงมุ่งศึกษาที่เด็กวัยรุ่น

Dr. Judy Garber นักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Duke ต้องการจะขจัดความคิดในทางลบเกี่ยวกับอาการดังกล่าว เพราะอาการนี้ เป็นกันทั่วไปและสามารถบำบัดรักษาได้ และนักจิตวิทยาคิดว่า สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้

Dr. Judy Garber ศึกษาเด็กวัยรุ่นมากกว่า 300 คนที่เคยผ่านการมีอาการซึมเศร้าหดหู่มาแล้ว โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มควบคุมเพื่อเปรียบเทียบ อีกครึ่งหนึ่งได้รับการบำบัดเป็นกลุ่มเป็นประจำ ซึ่งจะมีการตรวจสอบอาการ และสอนทักษะในการจัดการกับปัญหาที่ก่อให้เกิดอาการหดหู่ซึมเศร้า

Dr. Judy Garber กล่าวว่า นักวิจัยมุ่งศึกษาดูว่า เด็กวัยรุ่นเหล่านั้นกำลังคิดอย่างไรกับสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะวิธีที่พวกเขาจัดการ กับความรู้สึกซึมเศร้าหดหู่ และโดยเฉพาะในขณะที่เกิดอาการนั้น นักวิจัยจะสังเกตว่าเด็กวัยรุ่นเหล่านั้นโทษตัวเอง คิดว่าอะไรๆ ก็เป็นความผิดของตัวเองหรือไม่ และคิดว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่นั้น จะเลวร้ายตลอดไปหรือไม่ เป็นต้น

ในการบำบัดนั้น นักวิจัยพยายามให้วัยรุ่นกลุ่มนั้น มองดูและพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นติดตามมา ตามความเป็นจริง พิจารณาพฤติกรรมของตัวเองที่ติดตามมา แล้วพิจารณาว่าจะทำอย่างไร หรือทำอะไรได้บ้างกับเรื่องนั้นๆ

เมื่อการศึกษาเสร็จสิ้นลง วัยรุ่นกลุ่มได้รับการบำบัดป้องกัน มีอาการซึมเศร้าลดลง 11 % เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมเพื่อการเปรียบเทียบ

Dr. Judy Garber กล่าวว่า การป้องกันไม่ให้เกิดอาการหดหู่ซึมเศร้า เป็นสิ่งบ่งชี้ทางสังคมอย่างกว้างขวาง เด็กที่หดหู่ซึมเศร้ามัก จะทำอะไรรุนแรงเกินกว่าเหตุ และก่ออาชญากรรม การป้องกันไม่ให้เกิดอาการหดหู่ จะช่วยปกป้องเด็กวัยรุ่น ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรอันมีค่าของชุมชน

อีกประการหนึ่งที่นักวิจัยเรียนรู้ก็คือ ถ้าหากผู้ปกครองมีอาการหดหู่ซึมเศร้า เด็กในปกครองมักจะรู้สึกหดหู่ซึมเศร้ายิ่งกว่ามาก นักวิจัยกล่าวว่า ความหดหู่ซึมเศร้าของผู้ปกครอง เป็นปัจจัยที่รุนแรงมากจนกระทั่งทำให้โครงการนี้ ช่วยเด็กวัยรุ่นลูกหลานของผู้ปกครองเหล่านั้นไม่ได้

นักวิจัยกล่าวว่า การค้นพบนี้ มีศักยภาพที่จะช่วยปรับปรุงชีวิตของเด็กวัยรุ่นจำนวนมาก และลดการสูญเสียด้านความสามารถ ในการผลิตหรือในการสร้างผลงานเมื่อเด็กเหล่านั้น เติบโตออกไปทำงานทำการ


XS
SM
MD
LG