ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คุณแม่ชาวเซเนกัล ยืมวิธีการเลี้ยงลูกของจิงโจ้ มาปรับใช้กับการดูแลทารกวัยแบเบาะ


เวลานี้คุณแม่ชาวเซเนกัลบางคน กำลังเรียนรู้วิธีใหม่ในการช่วยให้เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด มีโอกาสรอดชีวิตต่อไปได้ แนวคิดนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นการหยิบยืมวิธีที่แม่จิงโจ้ในออสเตรเลียใช้เลี้ยงลูกจิงโจ้ตามธรรมชาติ แล้วนำมาปรับใช้กับมนุษย์เรา

คุณผู้ฟังคงจะพอคุ้นกับภาพแม่จิงโจ้ นำลูกจิงโจ้หรือที่ชาวออสเตรเลียเรียกกันว่า โจอี้ ใส่กระเป๋าหน้าท้อง แล้วกระโดดไปไหนต่อไหน จนกว่าลูกจิงโจ้นั้นจะสามารถออกเผชิญโลกกว้างได้ตามลำพัง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า วิธีที่แม่จิงโจ้ใช้เลี้ยงดูลูกจิงโจ้นั้น สามารถนำมาปรับใช้กับการดูแลเด็กทารกวัยแบเบาะ แบบแนบชิดสนิทสนมได้เป็นอย่างดี

ที่เซเนกัล และประเทศอื่นๆ ในอาฟริกานั้น ปกติแม่จะใช้วิธีนำลูกไพล่หลัง แล้วเอาผ้าห่อไว้เวลาจะออกนอกบ้านหรือทำกิจกรรมต่างๆ แต่ปัจจุบัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กแรกเกิดในเซเนกัลกำลังรณรงค์ ให้ใช้วิธีเลี้ยงลูกแบบแม่จิงโจ้นี้ สำหรับเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เพราะการโอบอุ้มลูกไว้ด้านหน้า จะทำให้แม่สัมผัสกับลูกได้โดยตรง และช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่นขึ้น นอกจากนี้แม่ยังสามารถให้ลูกน้อยกินนมของตนเองได้ทุกเวลาที่ต้องการอีกด้วย โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุน จากกระทรวงสาธารณสุขเซเนกัล และองค์การยูนิเซฟ

ในแต่ละปี จะมีเด็กทารกลืมตาออกมาดูโลก ที่ศูนย์สุขภาพชานกรุงดัก สถานที่ทำงานของคุณหมอ Ousmane Ndiaye ราว 7 พันคน ประมาณ 1 ใน 5 ของเด็กแรกเกิดเหล่านั้น มีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งต้องอาศัยตู้อบทารก เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ แต่ตู้อบดังกล่าวในเซเนกัลมีไม่มากนัก อัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดในเซเนกัล รวมทั้งในประเทศแถบตะวันตกและตอนกลางของอาฟริกา จึงอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในโลก คือในเด็กแรกเกิด 20 คน จะมีเสียชีวิต 1 คน โดยสาเหตุหลักคือการคลอดก่อนกำหนดนั่นเอง

คุณหมอ Ndiaye บอกว่า เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 2 กิโลกรัม จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากนางพยาบาลผดุงครรภ์ และที่คลีนิคจิงโจ้ในศูนย์สุขภาพแห่งนี้ จะช่วยสอนคุณแม่เกี่ยวกับวิธีโอบอุ้มลูกน้อยไว้แนบอก ให้ความอบอุ่นจากร่างกายแม่ถ่ายทอดไปสู่ลูก และเสียงเต้นของหัวใจแม่ก็จะช่วยควบคุมจังหวะการหายใจของลูกได้ด้วย คุณหมอ Ndiaye ยังบอกด้วยว่าทางศูนย์มีแผนจะขยายโครงการเลี้ยงลูกแบบแม่จิงโจ้ สำหรับเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดทั่วเซเนกัล โดยวิธีที่ดีที่สุดที่คุณหมอเชื่อว่าจะทำให้คุณแม่จำนวนมากหันมาใช้วิธีนี้ คือการบรรยายสรรพคุณโดยแม่ที่ผ่านประสบการณ์เลี้ยงลูกแบบนี้มาด้วยตนเอง

คุณแม่ Koumba Gueye เพิ่งคลอดลูกชายคนที่ 3 ก่อนกำหนดเป็นเวลาราว 6 สัปดาห์ เธอหันมาใช้วิธีโอบอุ้มลูกไว้ด้านหน้า ซึ่งดูแปลกๆ ในสายตาชาวเซเนกัลคนอื่นๆ แต่หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ วิธีแบบแม่จิงโจ้นี้ ก็ช่วยให้ลูกชายของเธอมีชีวิตอยู่รอดได้ต่อไป เธอบอกในตอนท้ายว่า คนเรามีเลือดเนื้อ และไม่ใช่หุ่นยนต์ การโอบอุ้มสัมผัสลูกโดยตรง จึงเป็นการแสดงความรักอย่างหนึ่งที่คุณแม่พึงกระทำ และเป็นการถ่ายทอดความอบอุ่นให้แก่ลูกน้อย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ


XS
SM
MD
LG