ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สื่อมวลชนต่างประเทศ ติดตามสถานการณ์การประท้วงในประเทศไทย


สืบเนื่องจากเหตุการณ์ประท้วงที่นำไปสู่ความไม่สงบเมื่อเร็วๆ นี้ในประเทศไทย สื่อมวลชนในต่างประเทศได้ติดตามรายงานเหตุการณ์ความเป็นไป และให้ความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมา

บทความของ Marwaan Macan-Markar แห่งสำนักข่าว Inter Press Service มุ่งเน้นในเรื่องการเซ็นเซ่อร์ข่าวด้วยการปิดสถานีวิทยุชุมชน และเว็บไซต์

รายงานของนักข่าวผู้นี้กล่าวว่า ทางการตำรวจได้ส่งเจ้าหน้าที่จู่โจม และปิดสถานีวิทยุชุมชนที่สนับสนุนพวกที่ต่อต้านรัฐบาลในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในขณะที่กระทรวงข่าวสาร และเทคโนโลยีสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปิดเว็บไซต์ 67 แห่ง

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นายบูรนาถ สมุทรักษ์บอกกับนักข่าวว่า สถานีวิทยุถูกปิดเพราะยุยงให้เกิดความรุนแรง และว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี สิ้นสุดลงเมื่อถูกใช้เพื่อเรียกร้องความรุนแรง

รายงานฉบับนี้อ้างคำกล่าวของรองศาสตราจารย์อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์แห่งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ว่าสื่อของไทยไม่รายงานการชุมนุม ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ และเมื่อมีรายงาน ก็เป็นการรายงานเชิงลบ นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า สื่อจะต้องรายงานข่าวเกี่ยวกับทุกสีในการเมืองไทย เพราะเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม สื่อจะต้องพยายามเป็นนักวิชาชีพและเป็นกลาง และว่า รายงานของสื่อที่แสดงความลำเอียงทำให้ผู้สนับสนุนแนวร่วมดังกล่าวไม่พอใจและเกิดความท้อแท้ ทำให้คนเหล่านี้ไม่มีทางเลือก ต้องหันไปหาทางสร้างสื่อขึ้นมาแทนที่โดยอาศัยใช้วิทยุชุมชนและอินเทอร์เน็ต

ส่วนอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ทูต Darryl Johnson ให้ความเห็นไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Seattle Times ว่า ความแตกแยกในสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง ที่ถูกการประท้วงครั้งนี้เปิดโปงออกมาให้เห็น จะต้องใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะประสานแผลนี้ได้

ในขณะที่รองศาสตราจารย์ ฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นไว้ในบทความที่พิมพ์ในหนังสือพิมพ์ New York Times ว่า อินโดนีเซีย ซึ่งแม้จะประสบความยุ่งยากมากมาย อาจจะเป็นแม่แบบที่ดีที่สุด สำหรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบประชาธิปไตย นักรัฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้นี้ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์และผู้หนุนหลังเป็นผู้แบกภาระรับผิดชอบ ปัญญาชนจะต้องถอยออกไปยืนอยู่ข้างๆ และปล่อยให้พลังของบัตรลงคะแนนเสียงเป็นตัวนำ อาจารย์ฐิตินันท์เรียกร้องไว้ในบทความนี้ว่า จะต้องโยนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2007 ทิ้ง และนำส่วนของรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยประชาชนในปี 1997 มาใช้แทนที่ จะต้องมีการเลือกตั้งรัฐสภาทั้งหมด ศาลที่สามารถตัดสินได้อย่างเป็นกลาง เกี่ยวกับผลการเลือกตั้งและหน่วยงานติดตามดูที่เป็นอิสระ

นักข่าว Simon Montlake เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์ Christian Science Monitor ออนไลน์ สรุปประเด็นความขัดแย้งในสังคมไทยไว้ว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2007 ที่ให้อำนาจศาลยุบพรรคการเมือง และห้ามผู้บริหารพรรคที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานคอร์รับชั่นเข้ามามีบทบาททางการเมือง การให้อำนาจข้าราชการและผู้พิพากษามากเกินไป และการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่

เขาอ้างคำกล่าวของอาจารย์ฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ที่ให้ความเห็นว่า พวกพรรคประชาธิปัตย์ไม่ตรงไปตรงมา และกำลังสกัดกั้น เพราะรู้ว่าถ้าให้มีการเลือกตั้ง แม้จะตามเงื่อนไขเหล่านี้ ก็ยังอาจไม่ชนะได้

รองศาสตราจารย์ ปนิธาน วัฒนายากร โฆษกของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกล่าวว่า การหามติที่เป็นเอกฉันท์จากทุกฝ่ายในเรื่องเหล่านี้ และกฎข้อบังคับอื่นๆมีความสำคัญต่อการเลือกตั้งใดๆที่จะมีขึ้นในอนาคต และว่า ถ้าให้มีการเลือกตั้งในตอนนี้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็เท่ากับว่ากลับไปตั้งต้นกันใหม่เท่านั้นเอง


XS
SM
MD
LG