ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อนาคตของประชาธิปไตย ในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ความปั่นป่วนทางการเมืองในประเทศไทย ทำให้มีการพูดกันใหม่ถึงเรื่องอนาคตของประชาธิบไตยในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชาธิปไตยในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยเป็นที่กล่าวขวัญถึงแบบชื่นชมนั้น กำลังประสพปัญหา

เมื่อตอนที่มีการรีบเร่งนำประธานาธิบดีฟิลลิปปินส์ กลอเรีย อาโรโย และผู้นำของเอเชียคนอื่นๆออกไปทางหลังคาของโรงแรมที่พัทยาเมี่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่พวกนปช เสื้อแดงกลุ่มหนึ่ง บุกเข้าสู่ที่ประชุมสุดยอดของสมาคมอาเซียนนั้น ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ คงจะหวนไปคิดถึงเหตุการณ์ทำนองเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นกับตัวท่านเมื่อปีพุทธศักราช 2544

ในปีนั้น ผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่ง พยายามบุกเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดี เพื่อขับไล่ตัวท่านออกจากตำแหน่ง แบบเดียวกับที่พวกนปช. พยายามทำกับนายกรัฐมนตรี อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ และประธานาธิบดีอาโรโย ต่างเข้ารับตำแหน่งหลังจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตยหลุดพ้นจากอำนาจไป

แต่ประชาธิปไตยที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า "พลังประชาชน"นี้ พวกนักวิเคราะห์กล่าวว่ากำลังนำความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาสู่ประเทศไทย และฟิลิปปินส์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รองศาสตราจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวไว้ตอนนี้ว่า "เหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ทำให้ระบอบประชาธิปไตย แบบมีรัฐธรรมนูญของประเทศไทยอ่อนแอลงไป เพราะในรอบเจ็ดสิบเจ็ดปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีการเคารพรัฐธรรมนูญกันเลย เมื่อปีที่แล้ว ผมคิดว่า พธม. เริ่มการแข็งข้อแบบใหม่ โดยนำฝูงชนมาชุมนุมตามถนน นอกบริเวณตึกรัฐสภา เพื่อแก้ไขนโยบายที่กลุ่มพธม. มองเห็นว่าเป็นนโยบายที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ของพวกนักการเมือง พวกนปชก็คือพวกที่เลียนแบบพธม. และแสวงประโยชน์จากสถานการณ์และด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน"

ส่วนศาสตราจารย์ วิลเลียม เคสแห่งมหาวิทยาลัย ซิตี้ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ฮ่องกง ผู้แต่งหนังสือเกี่ยวกับการเมือง และประชาธิปไตยในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้หลายเล่มกล่าวว่า การที่เหตุการณ์อันมีลักษณะรุนแรงเกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อาจเป็นตัวหยุดยั้งการแพร่กระจายของระบอบประชาธิปไตยในภูมิภาคนั้น ตามประเทศอย่างเช่นพม่าที่ปกครองโดยคณะทหาร ลาวและ เวียดนามซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์

ศาสตราจารย์ วิลเลียม เคส กล่าวไว้ตอนนี้ว่า "ประเทศเหล่านั้น อาจลงความเห็นว่าปัญหาในประเทศไทยนั้น เกิดเนื่องจากไม่เป็นประชาธิบไตยพอเพียง หรือในทางกลับกัน ประเทศเหล่านั้นอาจกล่าวว่า นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตยมากเกินไป และใช้เรื่องนั้นเป็นฉากบังหน้า ในการจำกัดประชาธิปไตยในประเทศของตน

อันที่จริง ประชาธิปไตยเรียกได้ว่ายังง่อนแง่น ในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิเคราะห์กล่าวว่าการเลือกตั้งที่จัดขึ้นในหลายประเทศ มิได้สะท้อนภาพให้เห็นถึงประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ฟิลิปปินส์ประสพปัญหา เกี่ยวกับสถาบันทางการเมืองอ่อนแอ การฉ้อราษฎร์บังหลวงกันอย่างแพร่หลาย มีการเลือกตั้งที่มีการใช้กำลังรุนแรงอยู่บ่อยๆ และปล่อยให้เลยตามเลยโดยไม่มีการลงโทษมากขึ้น

การเลือกตั้งที่มาเลเซีย และสิงค์โปร์ มีลักษณะเป็นการชิงชัยกัน แต่พรรคการเมืองที่คุมอำนาจมานานยังคุมเสียงในรัฐสภาอยู่โดยมีกลไกทางการเมืองปักหลักมั่นอยู่ เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลมาเลเซียห้ามหนังสือพิมพ์ของฝ่ายตรงกันข้าม พิมพ์ออกจำหน่ายก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งพิเศษที่มีการชิงชัยกันอย่างดุเดือด นายกรัฐมนตรี ฮุนเซน และพรรคประชาชนของเขาก็ปกครองกัมพูชามาเป็นเวลานาน

ศาสตราจารย์ วิลเลียม เคส กล่าวไว้ตอนนี้ว่า "อินโดนีเซียเรียกได้ว่า เป็นประเทศประชาธิปไตยรายเดียวเท่านั้น ในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนี้ แต่อินโดนีเซียเองก็ประสพปัญหาใหญ่ รัฐบาลพลเรือนควบคุมฝ่ายทหารไม่ได้โดยเด็ดขาด มีการใช้อำนาจข่มขู่เยอะในระดับท้องถิ่น แต่อินโดนีเซียเป็นสัญลักขณ์ของการเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ ในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

รองศาสตราจารย์ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า การประท้วงในประเทศไทย ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ประชาชนเห็นคุณค่าของประชาธิปไตย และได้แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะเป็นประชาธิปไตยในระยะสองสามปีที่ผ่านมาด้วย

ประชาธิปไตยในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น แม้ว่าจะยังไม่มีเสถียรภาพก็ตาม แต่ดูเหมือนว่ามีการพูดกันถึงว่า จะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นอย่างไร มากกว่าการพูดว่าจะทอดทิ้งระบอบดังกล่าว


XS
SM
MD
LG