ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานของสหประชาชาติ วิพากษ์ตำหนิประเทศไทย เรื่องการปฏิบัติต่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัย


รายงานที่สหประชาชาติมอบหมายให้จัดทำขึ้น วิพากษ์ตำหนิประเทศไทย เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ที่อพยพมาจากที่อื่นและผู้ลี้ภัย ประเทศไทยนั้นเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญแห่งหนึ่งของผู้อพยพมาจากถิ่นอื่นในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนมากมาจากพม่า

รายงานที่องค์การด้านการอพยพย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ นำออกเผยแพร่ในวันอังคารระบุว่ามีผู้อพยพย้ายถิ่นฐานมาพำนักอยู่ในประเทศไทย สองล้านกว่าคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน

แต่ถึงแม้ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเหล่านั้น มีส่วนทำให้เศรษฐกิจไทยงอกเงยขึ้น ปีละอีกสองพันกว่าล้านเหรียญสหรัฐก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ก็โดนตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์ และโดนฉกฉวยประโยชน์

คุณ กวี-เยียบ ซัน ผู้ประสานงานของสหประชาชาติประจำประเทศไทยกล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายดีๆ สำหรับคุ้มครองผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน แต่การบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้นไม่สู้จะดีนัก

คุณกวี-เยียบ ซัน กล่าวไว้ตอนนี้ว่า "บ่อยครั้งทีเดียว ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานไม่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำที่ระบุไว้ในกฎหมายแรงงานไทย และในทางกลับกัน พวกเขาก็ไม่กล้าไปร้องเรียนเรื่องเหล่านั้นเนื่องจากกลัวว่าจะโดนไล่ออก ถูกจับกุมและโดนเนรเทศออกไป "

ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานราวร้อยละ 66อยู่ในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย

รายงานฉบับนั้นระบุว่ากระบวนการลงทะเบียนผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน ของประเทศไทยกำลังเพิ่มความเข้มงวด ทำให้ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานที่ไม่มีเอกสารสำคัญ ที่โดนฉกฉวยประโยชน์อย่างง่ายดายมีจำนวนมากขึ้น

คุณโรซาเลีย ซีออร์ติโน ผู้เขียนรายงานฉบับนั้นกล่าวว่า มีความสำเหนียกแบบผิดๆ ว่าผู้อพยพย้ายถิ่นฐานแย่งงานจากคนไทย เธอกล่าวไว้ตอนนี้ว่า "คนไทยมองเห็นว่างานเหล่านั้นเป็นงานต่ำๆหรือไม่ก็จ่ายค่าแรงถูกเกินไป ด้วยเหตุนี้ เรื่องที่ว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องนำมาประกอบการพิจารณา เพราะกำลังมีการกดดันให้ส่งผู้อพยพเหล่านั้นกลับไปยังถิ่นฐานเดิมมากขึ้นเรื่อยๆโดยอ้างว่าคนงานไทยไม่มีงานทำ เรื่องนั้นไม่มีข้อพิสูจน์ว่าเป็นความจริง เมื่อดูจากประวัติความเป็นมาในอดีต "

ผู้ประสานงานของสหประชาชาติประจำประเทศไทย กวี-เยียบ ซัน กล่าวว่าผู้อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในประเทศไทยนั้นเป็นคนที่มาจากพม่า อาจถึงร้อยละ 80 ผู้ลี้ภัยจากพม่าที่หลบหนีการรังควาญกลั่นแกล้ง และความยากจนมานั้นมีจำนวนเป็นพันๆ คน

ประเทศไทยให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัย ที่มาจากพม่าจำนวน 150,000 คนโดยพวกเขาพำนักอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยตามเขตชายแดน และร่วมงานกับสหประชาชาติ ในการช่วยให้คนเหล่านั้นไปตั้งหลักแหล่งใหม่ในประเทศที่สาม

ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2547 ถึงปีพุทธศักราช 2550 นั้น สหรัฐซึ่งรับผู้ลี้ภัยจากประเทศไทยเข้าประเทศมากที่สุดนั้น รับชาวลาวเผ่าโม้งและชาวพม่า 30,000 กว่าคนเข้ามาตั้งหลักแหล่งใหม่ในประเทศ

รายงานตำหนิประเทศไทยว่า จำกัดการเข้าเยี่ยมกลุ่มผู้ลี้ภัยบางกลุ่ม ของสหประชาชาติ อย่างเช่นกลุ่มชาวรัฐฉาน กลุ่มชาวลาวเผ่าโม้ง พวกโรฮิงยาและกลุ่มชาวเกาหลีเหนือ

สหประชาชาติกำลังเกลี้ยกล่อมให้ประเทศไทย ให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการคุ้มครองคนงานผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน และผู้ลี้ภัยและอนุญาตให้คณะกรรมการฝ่ายผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติไปเยี่ยม และประเมินสภาพของผู้ที่มีวิสัยว่า จะอยู่ในข่ายผู้ลี้ภัยได้อย่างเป็นเอกเทศ


XS
SM
MD
LG