ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานสุขภาพเรื่องสมอง และระบบประสาท กับหลักการพื้นฐานด้านชีววิทยา


รายงานชิ้นล่าสุดเรื่องสมอง และระบบประสาทแสดงให้เห็นถึงหลักการพื้นฐานด้านชีววิทยา ที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ของมนุษย์แต่ละคน

ซึ่งนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบริคเล่ย์เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Born to be good ว่าความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดนั้น ทำให้มนุษย์เราวิวัฒนาการมารวมกลุ่ม ร่วมกันทำงานได้อย่างไร

ศาสตราจารย์ Dacher Keltner นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบริคเล่ย์กล่าวว่า โดยปกติแล้ว มนุษย์แต่ละคนมักจะสนใจแต่ตัวเอง และชื่นชอบการแข่งขัน แต่รายงานวิจัยล่าสุด และการค้นคว้าของเขาเองเกี่ยวกับระบบประสาท แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมมนุษย์นั้นมีสองด้าน ซึ่งอีกด้านหนึ่งนั้นคือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวดองเป็นญาติกับตัวเอง

ศาสตราจารย์ Keltner บอกว่า มีรายงานหลายชิ้นชี้ว่า สมองมนุษย์จะปลอดโปร่งขึ้นเมื่อได้เป็นผู้ให้ และระบบเส้นประสาทที่เรียกว่า Vagus คือสาเหตุที่ทำให้เราอยากช่วยเหลือผู้อื่น อยากให้และอยากเสียสละ ระบบประสาท Vagus นี้จะเริ่มต้นที่ส่วนบนของเส้นประสาทไขสันหลัง และทอดยาวลงไปถึงบริเวณหน้าอก คอยควบคุมการเปล่งเสียง อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ ตลอดจนระบบการย่อยอาหารและระบบอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้บอกว่า ระบบประสาท Vagus จะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อคนๆ นั้นได้ทำอะไรก็ตามเนื่องมาจากความสงสารเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ศาสตราจารย์ Keltner กล่าวว่า ระบบประสาทดังกล่าวทำให้มนุษย์วิวัฒนาการมาเป็นสัตว์สังคม ซึ่งสนับสนุนการทำงานแบบรวมกลุ่ม ตั้งแต่แรกเกิดเด็กทารกต้องพึ่งพาผู้อื่นในการดูแลตนเอง โดยจะมีสารเคมีในระบบประสาทบางชนิด ที่กระตุ้นให้เรารู้สึกพึงพอใจเมื่อได้เสียสละ สารเคมีชนิดหนึ่งคือ oxytocin ซึ่งจะอยู่ในเส้นประสาท และกระแสเลือด มีความเกี่ยวพันกับความรู้สึกรัก และเสียสละของมนุษย์

นักจิตวิทยาผู้นี้บอกว่าหากคุณเพิ่มสาร oxytocin ให้ใครสักคนหนึ่งพร้อมกับเงินจำนวนหนึ่งให้คนๆ นั้นมอบให้กับคนแปลกหน้า เขาจะมอบเงินไปจนเกือบไม่เหลือติดตัวเลยทีเดียว

ประเด็นว่าด้วยเรื่องธรรมชาติของมนุษย์คือสัตว์สังคมนั้น ถูกกล่าวถึงมานานหลายร้อยปีแล้ว ในหนังสือ The Descent of man เมื่อปี 1871 ของชาร์ล ดาร์วิน บิดาแห่งทฤษฏีวิวัฒนาการสมัยใหม่ ได้กล่าวถึงความเมตตาและความสามัคคีที่ถูกสร้างขึ้นในร่างกายมนุษย์ ผ่านวิวัฒนาการมาเป็นเวลายาวนาน แต่ประเด็นนี้ได้ถูกหลงลืมไปโดยนักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังๆ

ศาสตราจารย์ Keltner ยังบอกด้วยว่า งานวิจัยชิ้นล่าสุดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเรียกว่า ศาสตร์แห่งความเห็นอกเห็นใจนั้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ ช่วงที่แต่ละคนต่างถูกทับถมด้วยความเครียดเช่นนี้

ผู้เขียนหนังสือ Born to be good บอกว่าแม้ปัญหาทางการเงินจะหนักหน่วงแต่ก็มิอาจส่งผลต่อความดี ที่คนแต่ละคนมีอยู่ประจำตัวได้ และสิ่งสำคัญกว่านั้นคือความเข้มแข็งต่อความสัมพันธ์ทางสังคม การอุทิศตนให้แก่ชุมชนที่สังกัด และครอบครัว ผ่านทางความพึงพอใจที่ได้เสียสละเพื่อผู้อื่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงตัวเราเข้ากับคนรอบข้าง ได้อย่างมีความสุข เป็นความสุขที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะอย่างที่ศาสตราจารย์ Keltner บอกว่า ความดีเป็นสิ่งที่ติดตัวทุกคนมาตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว


XS
SM
MD
LG