ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหประชาชาติสนับสนุนความร่วมมือ ลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก


เวลานี้องค์การสหประชาชาติ กำลังสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือ เพื่อลดความเสียหายซึ่งเกิดจากภัยธรรมชาติต่างๆ ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก โดยคณะกรรมการด้านการบรรเทาภัยพิบัติสหประชาชาติ จัดประชุมเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับตัวแทนจาก 25 ประเทศ

คณะกรรมการด้านการบรรเทาภัยพิบัติของสหประชาชาติ เริ่มการประชุมเป็นเวลา 3 วันโดยมีเป้าหมายกระชับความร่วมมือ ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เพื่อป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ คุณ Noeleen Heyzer เลขาธิการบริหารของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมเขตภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ของสหประชาชาติ กล่าวต่อผู้เข้าร่วมประชุม 180 คน ถึงความจำเป็นที่ต้องมีความร่วมมือในเรื่องนี้

คุณ Heyzer กล่าวว่า ภัยธรรมชาติทั่วโลกเกิดขึ้นในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกถึง 42% และมีผู้เคราะห์ร้ายจากภัยพิบัติในแถบนี้ถึง 65% อาจกล่าวได้ว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในแถบเอเชียแปซิฟิก มีโอกาสได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติมากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในอาฟริกาถึง 4 เท่า และมากกว่าคนที่อยู่ในยุโรปและอเมริกาเหนือถึง 25 เท่า โดยเมื่อปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติต่างๆ ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกเกือบ 250,000 คน คิดเป็น 97% ของผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติทั่วโลก

สำหรับภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกเมื่อปีที่แล้ว มี 2 ครั้งนะครับ คือเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศจีน เมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 87,000 คน อีกครั้งหนึ่งคือเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีส พัดถล่มประเทศพม่าเมื่อเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 140,000 คน ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้น รัฐบาลพม่ายอมรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ล่าช้าไปหลายวัน ซึ่งนักวิจารณ์ชี้ว่าเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก การประชุมในกรุงเทพมหานครครั้งนี้ จึงมีเป้าหมายที่การหามาตรการเร่งให้ความช่วยเหลือและส่งข้อมูลไปยังผู้ประสบภัยธรรมชาติ อย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต ในขณะเดียวกัน คุณ Noeleen Heyzer กล่าวด้วยว่าการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยในเรื่องนี้ได้เช่นกัน

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติผู้นี้ระบุว่า เงินช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ช่วยสร้างโอกาสให้เกิดแนวนโยบายใหม่ๆ และสนับสนุนการพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน สำหรับการประชุมของคณะกรรมการบรรเทาภัยพิบัติสหประชาชาติ ที่กรุงเทพมหานครเป็นเวลา 3 วันนี้ คาดว่าจะมีการหยิบยกประเด็นเรื่องระบบเตือนภัยธรรมชาติล่วงหน้า และวิธีที่ดีที่สุดในการร่วมรับมือภัยพิบัติต่างๆ มาหารือด้วย


XS
SM
MD
LG