ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ประชากรโลกที่มีอายุเกิน 100 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน


เมื่อก่อนนี้คนที่มีอายุยืนยาวเกินกว่า 100 ปี ดูเหมือนจะหายากมาก แต่เชื่อไหมว่า ปัจจุบันกลุ่มประชากรโลกที่อายุยืนเกิน 100 ปีเป็นกลุ่มที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุด

ที่ผ่านมานักวิจัยด้านอายุประชากร ต่างพยายามหาคำตอบให้ได้ว่า ใครบ้างในโลกที่มีอายุถึง 100 ปี? คนเหล่านั้นแตกต่างจากคนทั่วไปอย่างไร? และคุ้มค่าแค่ไหนที่จะมีอายุยืนยาวขนาดนั้น?

นายแพทย์ Thomas Perls ผู้อำนวยการโครงการศึกษาคนอายุยืนเกิน 100 ปีที่มหาวิทยาลัยบอสตัน บอกว่า คนทั่วไปมักจะตั้งคำถามว่า ใครอยากจะมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี เพราะคนจำนวนมากเชื่อว่า ยิ่งแก่เฒ่าก็จะยิ่งมีโรคมาก แต่ความเป็นจริงที่นักวิจัยพบแตกต่างไปจากความเชื่อที่ว่านี้ เพราะคนที่อายุยืนมากๆถึง 100 ปีนั้น ส่วนใหญ่จะเริ่มเจ็บป่วยจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ช้ากว่าคนทั่วไป คือเมื่ออายุย่างเข้าปีที่ 90 ไปแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่า สำหรับคนเหล่านั้นยิ่งแก่เฒ่าก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าช่วงชีวิตที่ผ่านมา พวกเขามีสุขภาพร่างกายดีกว่าคนทั่วไป

โครงการวิจัยของนายแพทย์ Perls พบว่าปัจจุบันเฉพาะในอเมริกามีผู้ที่อายุเกินกว่า 100 ปีอยู่ราว 4 หมื่นคน คนที่อายุมากที่สุดในกลุ่มนี้คือคุณยาย หรืออาจต้องเรียกว่ายายทวด Sara Canals ชาวรัฐเพนซิลวาเนียที่ปีนี้อายุ 119 ปี และเป็นคนอายุยืนอันดับ 2 ของโลก ซึ่งนักวิจัยยกความดีความชอบให้กับการแพทย์ และระบบสาธารณสุขสมัยใหม่ เช่น การทำให้มีน้ำดื่มสะอาดมากขึ้น การค้นพบวัคซีนและวิธีรักษาโรคต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณหมอ Perls ระบุไว้ในหนังสื่อชื่อ Living to 100 ว่า บรรดาตาทวดยายทวดแต่ละคน ต่างมีเคล็ดลับของตัวเองที่ทำให้อายุเดินทางมาถึงเลข 3 หลักได้

นายแพทย์ Thomas Perls บอกว่าเคล็ดลับที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาสุขภาพที่ดี คนอายุร้อยกว่าหลายคนรับประทานแต่อาหารมังสวิรัติ ไม่ทานเนื้อแดง ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอซึ่งส่งผลต่อน้ำหนักที่พอเหมาะพอดี รวมทั้งการรักษาสุขภาพจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด ผ่านทางกิจกรรมทางศาสนาหรือการทำสมาธิ รวมทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกในครอบครัว เรียกว่าการเลือกวิถีการใช้ชีวิตในช่วงที่ยังไม่แก่ คือกุญแจสำคัญสำหรับการมีชีวิตยืนยาวในอนาคต และสิ่งหนึ่งที่ผู้เฒ่าอายุยืนเหล่านี้ทุกคนมีร่วมกันก็คือ ความรักในชีวิต นั่นเอง

คุณ Lynn Adler ผู้ก่อตั้งโครงการระลึกถึงผู้ที่อายุเกิน 100 ปีในสหรัฐ กล่าวว่าความรักหรือความสุขในชีวิตนั้น รวมถึง การมีอารมณ์ขัน การมองโลกในแง่ดีตามความเป็นจริง มีความศรัทธาอย่างแรงกล้าในเรื่องจิตวิญาณและศาสนา ต้องมีความกล้าหาญในการใช้ชีวิตที่แก่ตัวกว่าคนรอบข้าง และที่สำคัญที่สุดคือความสามารถในการรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในแต่ละช่วงชีวิต เช่นการสูญเสียและการเปลี่ยนแปลง

สังคมอเมริกาแตกต่างจากสังคมของประเทศทางเอเชียมาก ผู้เฒ่าอายุยืนชาว อมเริกันหลายคนต้องอาศัยอยู่คนเดียว ต้องช่วยเหลือตัวเองแทบทุกอย่าง เพราะลูกหลานส่วนใหญ่ต่างออกไป มีครอบครัวของตัวเอง นานๆ จะเจอกันสักครั้งแต่หลายคนก็ยังคงมีความสุขกับชีวิตที่ยาวนานมาร่วมร้อยปี เรียกว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต และการสร้างมุมมองความคิดใหม่ๆ สำหรับคนรุ่นหลังได้เลย อย่างเช่นคุณยาย Elsa Hoffman วัย 101 ปีจากรัฐฟลอริดาผู้นี้

คุณยายบอกว่า แทนที่ทุกคนจะมัวกังวลกับตัวเลขอายุที่สูงขึ้นทุกๆ ปี ตอนนี้ 70 แล้ว ตอนนี้ 80 แล้ว เราแก่แล้ว แต่คุณยายอยากให้คิดเสียว่า ทุกช่วงเวลา ทุกช่วงวัยของชีวิตต่างมีความสวยงามในตัวเอง จึงควรปล่อยให้มันเป็นไป


XS
SM
MD
LG