ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นาซ่า จะส่งดาวเทียมดวงใหม่ ติดตามแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์


ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ องค์การอวกาศสหรัฐ จะส่งดาวเทียมดวงใหม่เพื่อสอดส่องติดตามแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดาวเทียมดวงนี้จะตรวจได้ว่าประเทศไหนปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ว่าจะลดการเปล่อยก๊าซที่เป็นสาเหตุของสภาพโลกร้อนนี้อย่างไรหรือไม่ และยังตรวจได้ด้วยว่าที่แห่งใดเป็นแหล่งซึมซับก๊าซนี้

กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ตั้งแต่การขับขี่รถยนตร์ ไปจนถึงการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ล้วนทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ หรือเรียกตามอักษรย่อทางเคมีว่า CO2 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดสภาพโลกร้อน การติดตามตรวจวัดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามทำงานนี้

ศาตราจารย์ George Mount ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรยากาศ ที่มหาวิทยาลัย Washington State กล่าวว่า CO2 ที่คนเราทำให้เกิดขึ้นนั้น ราวครึ่งหนึ่งตกค้างอยู่ในบรรยากาศ บางส่วนแทรกซึมเข้าไปอยู่ในมหาสมุทร และที่แน่ชัด ส่วนหนึ่งถูกพืชดูดซึมไป นักวิทยาศาสตร์เรียกแหล่งซึมซับก๊าซ CO2 ไว้เป็นปริมาณมากๆ เหล่านี้ว่า Sinks อาจารย์ George Mount บอกว่า เป็นเรื่องที่สนใจกันมากทั้งในทางวิทยาศาสตร์และในทางการเมือง ว่าที่แห่งใดในโลกเป็น Sinks

ขณะที่ทั่วโลกกำลังวิตกกันในเรื่องสภาพโลกร้อนอยู่นี้ Sinks หรือ แหล่งซึมซับก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์จึงเป็นของมีค่า แต่ที่เป็นเรื่องยากลำบากนั้น คือการหาว่าที่ใดแห่งไหนเป็นแหล่งที่ว่านั้น และซึมซับไว้ได้เป็นปริมาณมากน้อยเพียงใด องค์การอวกาศสหรัฐหรือ NASA จึงทำโครงการดาวเทียมสังเกตการณ์คาร์บอนขึ้นมา

George Mount ผู้หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมงานนี้ บอกว่า แนวคิดการใช้ดาวเทียม ก็คือ การติดตามตรวจวัดจากดาวเทียมในวงโคจรรอบโลก สามารถทำได้ในขอบเขตกว้างขวาง และมีความแม่นยำสูง

ขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐบาลและของเอกชน รวมทั้งบริษัทธุรกิจทั้งหลายในสหรัฐและในหลายประเทศ กำลังพยายามคิดคำนวณ เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ และการสร้างความสมดุลด้วยการซึมซับก๊าซนั้น

การมีข้อมูลมากขึ้นและดีขึ้น จะช่วยให้ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในประเทศต่างๆ มีศักยภาพมากขึ้น ในการปรับปรุงการดำเนินการของตน ให้มีความสมดุลในการปล่อยและการซึมซับก๊าซเรือนกระจก อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อช่วยแก้ปัญหาสภาพโลกร้อน

NASA ใช้งบประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการดาวเทียมสังเกตการณ์คาร์บอนที่ว่านี้ และคาดว่า อีกไม่กี่เดือน หลังจากส่งดาวเทียมดังกล่าวขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ ก็จะมีข้อมูล เกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกตามที่ต่างๆ บนโลกออกมาให้ได้ใช้กัน


XS
SM
MD
LG