ลิ้งค์เชื่อมต่อ

Smithsonian จัดการประชุมเรื่องสายพันธุ์สัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์ในป่าฝนเขตร้อนชื้น


เมื่อเร็วๆ นี้ที่กรุงวอชิงตัน สถาบัน Smithsonian ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเรื่องสถานการณ์ของป่าเขตฝนในปัจจุบัน และอนาคต มีนักวิทยาศาสตร์มากมายจากหลายประเทศเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ หัวข้อหลักในการประชุมคือเรื่องสายพันธุ์สัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์ในป่าฝนเขตร้อนชื้น

ป่าฝนเขตร้อนชื้นทั่วโลกเป็นแหล่งกำเนิดพืชพันธ์ และสัตว์หลายสายพันธ์ และเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด แหล่งหนึ่งของโลก แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าเขตฝนหลายแห่งกำลังหดหายไป ในขณะที่พืช และสัตว์หลายสายพันธ์ก็กำลังจะสูญพันธ์ นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามปรึกษาหาวิธีที่จะทำให้ป่าเขตฝนอยู่รอดต่อไป

คุณ Christian Samper ผอ.ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติอเมริกา กล่าวว่า ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา มีสายพันธ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างน้อย 25% ที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธ์ และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในป่าฝนเขตร้อนชื้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือมีการคาดการณ์ว่าในช่วงเวลาอีก 50 ปี อาจมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูญพันธ์อีกราว 25% ซึ่งเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่า ทั้งเพื่อการค้าและการเกษตร นอกจากนี้ ปัจจัยคุกคามอื่นๆ ได้แก่ การที่ประชากรโลกมีจำนวนมากขึ้น สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการรุกรานของสัตว์บางสายพันธ์และการล่าสัตว์

สถาบันวิจัยป่าเขตร้อนชื้น SMITHSONIAN ในปานามาคือศูนย์ศึกษาชีวภาพป่าเขตร้อนขนาดใหญ่ และเก่าแก่ที่สุดในโลก คุณ Eldredge Bermingham ผอ.สถาบันแห่งนี้บอกว่า ปัจจุบันสายพันธ์สัตว์ป่าในป่าฝนเขตร้อน ในบางพื้นที่โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังอยู่ในภาวะล่อแหลมต่อการสูญพันธ์

ในขณะเดียวกัน Nigel Stock นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Melbourne ในออสเตรเลียระบุว่า สายพันธ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์ส่วนใหญ่ คือแมลงซึ่งทำหน้าที่สำคัญในระบบนิเวศน์ Nigel Stock ระบุว่า เวลานี้ที่ออสเตรเลีย ไม่มีแมลงที่คอยกำจัดมูลสัตว์ตามธรรมชาติ ทำให้มีมูลสัตว์ประเภทวัวควาย กองสะสมอยู่เต็มพื้นที่นับพันๆ ไร่เป็นเวลาอย่างน้อย 7 ปีในออสเตรเลีย แทนที่จะถูกย่อยสลายไปในเวลาเพียง 3 เดือนเหมือนในอเมริกา

อีกด้านหนึ่ง คุณ Elizabeth Bennett แห่งศูนย์รักษาพันธ์สัตว์ป่าในอเมริกากล่าวว่า ปัจจุบันการล่าสัตว์เพื่อการค้ามกลายมาเป็นธุรกิจระดับโลก มีการส่งทั้งเนื้อสัตว์แปลกๆ หรือตัวสัตว์เป็นๆ รวมทั้งขนสัตว์และเครื่องประดับจำพวกงาช้างและหัวสิงโตจำนวนมากมายังประเทศพัฒนาแล้ว ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2000 เกาะสุมาตราในอินโดนีเซียได้ส่งออกเต่าปริมาณ 25 ตันต่อสัปดาห์มายังประเทศจีน

คุณ Bennett ยังบอกด้วยว่า มีบริษัทตัดไม้หลายบริษัท ได้สร้างถนนในพื้นที่ชนบทห่างไกล เพื่อให้นักล่าสัตว์ได้เดินทางเข้าไปล่าสัตว์ได้ง่ายขึ้น ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า การทำลายป่าแบบเงียบ ซึ่งหมายถึงปรากฎการณ์ที่หากดูจากภาพถ่ายดาวเทียม หรือเครื่องบินจะเห็นว่าป่าผืนนั้นอุดมสมบูรณ์ทุกอย่าง แต่ในความเป็นจริงสัตว์ในป่าผืนนั้นกลับถูกล่าอย่างหนัก และป่ากำลังถูกทำลายจากภายใน

นักวิทยาศาสตร์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า แม้ในอนาคตป่าเขตฝนจะยังสามารถอยู่รอดได้ต่อไป แต่ชะตากรรมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์ต่างๆ ยังคงไม่แน่นอน และในท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์อาจจะต้องรับประทานเพียงแค่อาหารมังสวิรัติ เพื่อสืบทอดสายพันธุ์ของตนเองในโลก ที่ไร้ซึ่งความสมดุลต่อไปก็เป็นได้


XS
SM
MD
LG