ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยชี้ การเข้าเรียนช้าลง 1 ชั่วโมง อาจช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้


ผลการวิจัยล่าสุดจากสหรัฐฯ พบว่า หากเปลี่ยนเวลาโรงเรียนเข้าให้ช้าลงจากเดิม 1 ชั่วโมง นอกจากจะมีผลต่อความตื่นตัวในการเรียนแล้ว ยังอาจช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ด้วย

และยิ่งมีเวลานอนมากขึ้นเท่าใด ความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นไข้หวัดก็จะน้อยลงเท่านั้น

ทราบไหมว่าการเปลี่ยนเวลาโรงเรียนเข้าให้ช้าลง 1 ชั่วโมงนอกจากจะทำให้เด็กวัยรุ่นที่ยังเป็นนักเรียน นอนหลับได้ดีขึ้นในตอนกลางคืน ซึ่งมีผลต่อความตื่นตัวในการเรียนแล้ว ยังอาจช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ด้วย

ผลการศึกษาในเขตโรงเรียนขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ที่รัฐเคนตัคกี พบว่า อัตราการเกิดรถชนของผู้ขับขี่ที่มีอายุ 17-18 ปี ลดลงร้อยละ 16 ในเขตปกครองที่เปลี่ยนเวลาเข้าเรียนของโรงเรียนชั้นมัธยมปลาย ให้ช้าลงจากเดิม 1 ชั่วโมง ส่วนในเขตการปกครองอื่นที่ยังใช้เวลาเดิม มีอัตราการเกิดรถชนเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 8

คุณเฟรด แดนเนอร์ หัวหน้าภาควิชาการศึกษา และจิตวิทยาการให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยเคนตัคกี บอกว่าแม้การศึกษาครั้งนี้ไม่ได้ควบคุมพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ หรือดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอลล์ขณะขับรถ แต่สิ่งที่พบจากงานวิจัยนี้ ก็สอดคล้องกับที่เคยรายงานไปแล้ว คือ การนอนไม่พอนั้นมีผลต่อความตื่นตัวของร่างกายในเวลากลางวัน แต่สิ่งที่ทำให้ทึ่งคือเรื่องนี้

คุณเฟรด บอกว่า หลายสิ่งที่เราพิจารณาว่าเป็นพฤติกรรมปกติของวัยรุ่น เช่น อารมณ์แปรปรวน สมาธิสั้น ใจลอย และซุ่มซ่าม จริงๆ แล้วเป็นอาการเดียวกับที่พบในการทดลองเรื่องการอดนอน

คุณเฟรด บอกว่า โรงเรียนทำให้เด็กมีกิจกรรมหลังเลิกเรียน เช่น ทำการบ้าน มีผลให้พวกเขานอนดึกขึ้น 1 ชั่วโมง ส่วนเวลาโรงเรียนเข้าก็ทำให้นักเรียนต้องลุกขึ้นจากเตียงเร็วขึ้น 1 ชั่วโมงด้วย เมื่อรวมเวลาตลอดสัปดาห์ เห็นได้ชัดว่าเด็กๆ เป็นหนี้การนอนหลายชั่วโมงเลยทีเดียว

แม้ผู้วิจัยไม่ได้คาดหวังให้โรงเรียนทั่วประเทศ เปลี่ยนเวลาโรงเรียนเข้าให้ช้าลงโดยทันที แต่ควรให้ความสนใจอย่างจริงจัง ต่อเรื่องการนอนว่าเป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

ยังอยู่ที่เรื่องการนอน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน รัฐเพนซิลเวเนีย ศึกษานิสัยการนอนของประชากรกลุ่มตัวอย่างประมาณ 150 คนเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ พบว่า ยิ่งมีเวลานอนในตอนกลางคืนมากขึ้นเท่าใด โอกาสเป็นไข้หวัดก็จะยิ่งน้อยลง และถ้านอนน้อยกว่าคืนละ 7 ชั่วโมง จะมีโอกาสเป็นหวัดมากกว่าคนที่นอนคืนละ 8 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ถึง 3 เท่า

เชลดอน โคเฮน นักจิตวิทยาของสถาบันแห่งนี้ บอกว่า คนที่เสียเวลานอนแม้เพียงเล็กน้อยในตอนกลางคืน ก็ทำให้มีความเสี่ยงเป็นไข้หวัดเพิ่มขึ้นได้ เช่น การเสียเวลานอนไป 2-8 % จะมีความเสี่ยงเป็นไข้หวัด สูงกว่าคนที่มีเวลานอนอย่างเต็มที่ ถึงกว่า 4 เท่า

นักวิจัย ระบุว่า ผลวิจัยครั้งนี้สะท้อนผลการศึกษาจำนวนมาก เมื่อไม่นานมานี้ว่ามนุษย์เราควรมีเวลานอนโดยไม่มีใครมารบกวน อย่างน้อย 7 ชั่วโมงเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง อีกทั้งยังบอกเป็นนัยถึงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อจะได้ใช้เป็นจุดเน้นเพื่อทำการศึกษาต่อไป

XS
SM
MD
LG