ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กฏหมายห้ามสบบุหรี่ในที่สาธารณะ ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจได้


ผลการศึกษาในรัฐโคโลราโดของสหรัฐฯ พบหลักฐานที่หนักแน่นชัดเจนว่ากฏหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และที่ทำงานสามารถลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจได้

ขณะนี้มี 20 กว่ารัฐในสหรัฐฯ ที่มีกฏหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และหลายรัฐที่มีกฏหมายห้ามเพียงบางส่วน แต่เชื่อว่าอีกหลายรัฐที่ยังลังเลหรือยังไม่ได้ตัดสินใจ อาจจะต้องรีบตัดสินใจในไม่ช้านี้ เพราะผลการศึกษาที่เมืองพูเอโบล รัฐโคโลราโด มีความชัดเจนว่ากฏหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และที่ทำงานสามารถลดการเป็นโรคหัวใจได้

ย้อนไปเมื่อ 1 ปีครึ่งก่อนเริ่มการศึกษา โรงพยาบาลหลายแห่งในเมืองพูเอโบต้องรับคนไข้หัวใจวายถึง 399 คน แต่หลังจากประกาศใช้กฏหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะได้ 18 เดือน มีคนไข้หัวใจวายเหลือเพียง 237 คน หรือลดลงถึง 41 % นอกจากนี้ จำนวนผู้ป่วยหัวใจวายที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

เจนเนต คอลลินส์ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า คนที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่ต้องสูดรับเอาควัน หรือที่เรียกว่า “สูบบุหรี่มือสอง” นั้น ควันบุหรี่จะทำให้เกิดอันตรายโดยทันทีต่อระบบปอดและหัวใจ อีกทั้งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะยาวที่จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆด้วย ในสหรัฐนั้น พบว่า จะมีคนสูบบุหรี่มือสองเสียชีวิตจากหัวใจวายถึงปีละ 46,000 คน

นักวิจัย ระบุว่า ในบริเวณที่ไม่มีกฏหมายห้ามสูบบุหรี่ จำนวนการเกิดหัวใจวายแทบไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งนายแพทย์เทอร์รี เพชาเซ๊ค แห่งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค เสนอให้นำผลการวิจัยนี้ชี้แนะให้ทุกประเทศ เล็งเห็นว่าการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเป็นอันตรายอย่างมากต่อผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

ขณะเดียวกันมีผลวิจัยซึ่งนำโดยคุณหมอโจนาธาน วินิคคอฟฟ์ แห่งโรงพยาบาลเด็กในนครบอสตัน พบว่า ผู้ใหญ่ที่คิดว่าการออกไปสูบบุหรี่นอกบ้านหรือสูบบุหรี่เมื่อไม่มีเด็กอยู่ จะทำให้เด็กปลอดภัยนั้น เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะสารอันตรายจากควันยาสูบที่ติดอยู่ตามเส้นผม และเสื้อผ้าของผู้สูบบุหรี่ ยังคงเป็นอันตรายหากสัมผัสถูกต้องตัวเด็ก ดังนั้นถ้าจะให้ดี ไม่สูบบุหรี่เลยดีที่สุด

XS
SM
MD
LG