ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สมาคมอาเซียน ให้สัตยาบันกฏบัตร ผูกมัด 10 ชาติปฏิบัติตามกรอบกฏหมาย


สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนให้สัตยาบันกฏบัตรอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีผลผูกมัดให้ชาติสมาชิกทั้ง 10 ประเทศปฏิบัติตามกรอบของกฏหมาย

แต่จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกซึ่งเริ่มลุกลามมาถึงเอเชีย อาจทำให้อาเซียนต้องล่าช้าในการรวมตัวเป็นประชาคมเหมือนกับสหภาพยุโรป

ในที่สุดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนซึ่งก่อตั้งขึ้นมานานกว่า 40 ปีก็กลายเป็นองค์กรที่มีผลทางกฏหมาย หลังจากที่ชาติสมาชิกให้สัตยาบันกฏบัตรอาเซียนอย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบังยุดโดโยโน่ ผู้นำอินโดนีเซีย กล่าวในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่า การให้สัตยาบันกฏบัตรดังกล่าวเป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่บ่งชี้การเปลี่ยนแปลงของอาเซียน

ผู้นำอินโดนีเซีย กล่าวว่า กฏบัตรนี้จะเป็นพื้นฐานที่ทำให้ประเทศสมาชิกเร่งหันหน้าเข้าหากัน ในบทเฉพาะกาลของกฏบัตรได้อนุญาตให้มีกระบวนการ ที่จะทำให้อาเซียนเปลี่ยนจากสมาคมที่มีการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ กลายเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งอิงอยู่กับหลักการความร่วมมือ เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

กฏบัตรอาเซียนกำหนดให้ชาติสมาชิกมีพันธกิจ ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย หลักกฏหมาย หลักธรรมาภิบาล อีกทั้งเคารพและสนับสนุนสิทธิมนุษยชน ซึ่ง ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนระบุว่า สมาชิกอาเซียนทุกประเทศมีภาระหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฏบัตรนี้

ดร.สุรินทร์ ระบุว่า ประชาธิปไตย เป็นระบบที่ส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาค บางประเทศมีประชาธิปไตยก่อนประเทศอื่น แต่ขณะนี้กลับตามหลัง แต่ทั้งหมดอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง และมีส่วนร่วมมากขึ้น ยังไม่มีประเทศใดที่สมบูรณ์พร้อม

กฏบัตรนี้ยังได้เปิดทางให้กับอาเซียน รวมเป็นตลาดเดียวภายใน 7 ปี แต่วิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก อาจทำให้ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยเกิดความหวั่นวิตกว่าวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ อาจชะลอความพยายามเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรี

อาเซียนยังคงถูกโจมตีว่าล้มเหลว ในการจัดการกับปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาติสมาชิก โดยเฉพาะพม่าซึ่งปกครองด้วยระบอบทหาร นักวิเคราะห์การเมืองเชื่อว่าอาเซียนจะยังคงยึดมั่นในธรรมเนียม ไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน แต่ดร. สุรินทร์ บอกว่า กฏบัตรนี้มีข้อกฏหมายที่จะให้ทนายความฟ้องร้องดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

XS
SM
MD
LG