ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในประเทศไทย


ในขณะที่มีข่าวว่า กำลังมีการเจรจาระหว่างประธานวุฒิสภากับประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งผู้นำของพรรคฝ่ายค้าน เพื่อที่จะหาทางแก้ไขวิกฤติการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย

ก็กำลังเป็นที่วิตกกังวลกันว่าอาจมีความรุนแรงเกิดขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในต่างจังหวัดในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นความเห็นที่นักเขียนและนักวิจัยการเมืองไทยผู้หนึ่งไม่เห็นด้วย

Chris Baker นักเขียนและนักวิจัยการเมืองไทยให้ความเห็นว่า ความพยายามล่าสุดที่จะหาทางประนีประนอม อาจช่วยผ่อนคลายวิกฤติการณ์ครั้งนี้ได้

นักเขียนผู้นี้กล่าวว่า ไม่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หาทางออกไม่ได้ เพราะยังมีความเคลื่อนไหว และสถาบันและกระบวนการที่อาจแก้ปัญหาได้ และแม้จะต้องมีความละเอียดอ่อน เพราะยังมีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดความรุนแรงขึ้นอีก ก็คิดว่ายังมีความหวังอยู่ได้

ในอีกด้านหนึ่งนั้น ดูเหมือนว่า ฝ่ายพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยกำลังสูญเสียการสนับสนุน ผลการสำรวจทัศนคติล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ผู้คนส่วนใหญ่อยากให้ฝ่ายพันธมิตรเข้ามอบตัวกับตำรวจ หรืออย่างน้อยก็ยุติการประท้วง

คุณ Chris Baker ให้ความเห็นว่า ความรุนแรงเมื่อเร็วๆนี้ ระหว่างฝ่ายพันธมิตรกับฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล ส่งผลกระทบในทางลบต่อการสนับสนุนการประท้วง

นักวิเคราะห์การเมืองไทยผู้นี้ กล่าวว่า การแสดงความไม่เชื่อฟังกฎหมายอย่างไม่มีอารยธรรมเช่นนี้ ไม่เป็นการประท้วงอย่างสุภาพที่ประชาชนยอมรับและสนับสนุน เพราะฉะนั้นจึงคิดว่า ในขณะที่ดูจากภายนอก ฝ่ายพันธมิตรยังมีทีท่าไม่ยอมผ่อนปรน แต่จริงๆแล้วอ่อนแอลงมากทีเดียว ซึ่งอาจเปิดทางให้มีการเจรจากันได้

ในขณะเดียวกัน บทวิเคราะห์จาก Asia Today International นิตยสารธุรกิจระดับภูมิภาคในออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า แม้ว่าการส่งออกของประเทศไทยในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ จะสูงมากกว่า 8 หมื่น 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนับว่าสูงเป็นประวัติการณ์ก็ตาม บรรยากาศโดยทั่วไป ในหมู่ผู้บริหารธุรกิจ ผู้บริโภค และนักลงทุนชาวต่างชาติในประเทศไทย หม่นหมองทีเดียว เหตุผลนั้น ไม่ใช่เพราะว่าราคาน้ำมันและอาหารพุ่งสูงขึ้นทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปถึง 8.9% แต่เป็นเพราะว่า การเมืองไทยยังคงไม่มีเสถียรภาพอยู่ต่อไป

แต่อย่างน้อย รายงานของผู้สื่อข่าว Peter Alford ในหนังสือพิมพ์ The Australian อ้างคำพูดของผู้บัญชาการกองทัพไทย พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ที่กล่าวว่า แม้จะมีความกดดันให้ทหารเข้าแทรกแซงในวิกฤติการณ์ทางการเมืองของประเทศ แต่ไม่มีผู้ใดคิดจะทำรัฐประหารในเวลานี้ การกระทำเช่นนั้นไม่ใช่ทางเลือก

แต่ผู้บัญชาการกองทัพไทยกล่าวไว้ด้วยว่า ถ้าเรื่องยังยืดเยื้อ และประชาชนเรียกร้อง ก็ไม่ทราบว่า จะเกิดอะไรขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ The Australian รายงานว่า ในรายการประจำสัปดาห์ทางโทรทัศน์ นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช กล่าวว่า ไม่ห่วงเลยว่าจะมีการทำรัฐประหาร และจะไปอธิบายสถานการณ์ในประเทศไทยให้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติรับฟังเมื่อไปกล่าวปราศรัยที่นั่นในวันที่ 23 กันยายนนี้

XS
SM
MD
LG