ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สื่อต่างประเทศรายงานสถานการณ์การเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง


ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยยังไม่คลี่คลาย สื่อในต่างประเทศรายงานเหตุการณ์และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่อง

บทความในหนังสือพิมพ์ The Financial Times ตั้งชื่อบทความไว้ว่า “Rule of the Mob” หรือ “การปกครองโดยฝูงชน” ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยควรหยุดชะงักสักนิด เพื่อครุ่นคิดว่า ถ้านายกรัฐมนตรีจะพ้นจากตำแหน่ง ก็ควรเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของรัฐสภา ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีจัดการกับวิกฤติการณ์นี้ผิดพลาด ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการเลือกตั้งกันใหม่ แต่ถ้าการพ้นจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามคำเรียกร้องของฝูงชนที่ดำเนินการประท้วงตามท้องถนน ก็จะหมายความว่า ฝูงชนเป็นผู้ปกครองประเทศไทย

ขณะเดียวกัน Jonathan Manthorpe ตั้งประเด็นในบทความที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ Vancouver Sun ของแคนาดาว่า ระบบประชาธิปไตย อย่างที่กลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย นำเสนอนั้น เป็นทัศนะที่เฉพาะเจาะจง และคับแคบ

แนวความคิดดังกล่าวเสนอให้มีการจัดตั้งสภาที่สมาชิก 70% มาจากการแต่งตั้ง อีก 30%มาจากการเลือกตั้ง ส่วนทหารนั้นจะมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการควบคุมนักการเมือง

มิให้ออกนอกลู่นอกทาง ในขณะที่ปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติพร้อมกันไปด้วย

ผู้สื่อข่าวของ นสพ. Vancouver Sun ให้ความเห็นว่า ระบบประชาธิปไตยตามวิสัยทัศน์ของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย หรือที่เรียกว่า “การเมืองใหม่” นั้น เหมือนกับระบบที่อดีตผู้เผด็จการ Suharto ของอินโดนีเซียนำมาใช้ ก่อนจะถูกขับออกจากตำแหน่งไปในปี ค.ศ. 1998 และคณะทหารที่ปกครองพม่ากำลังเสนอที่จะนำมาใช้

ศาสตราจารย์ Duncan McCargo ซึ่งสอนวิชาการเมืองในเอเชียอาคเนย์ที่มหาวิทยาลัย Leeds ในประเทศอังกฤษ เขียนแสดงความเห็นไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ The Guardian ฉบับเมื่อวันพุธที่ 3 กันยายนว่า การประท้วงครั้งก่อนๆในประเทศไทย เป็นเรื่องของความขัดแย้งทางอุดมการณ์อย่างชัดเจน แต่สำหรับครั้งนี้ รูปแบบประชาธิปไตยที่แต่ละฝ่ายสนับสนุนนั้น แทบจะไม่เหลือความเป็นประชาธิปไตย

นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า ประชาชนชาวไทยแตกแยกออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย กับฝ่ายที่สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร

ศาสตราจารย์ Charles Keyes นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องไทยคดีศึกษาของมหาวิทยาลัย Washington ให้ความเห็นกับ Olivia Ward ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ The Toronto Star ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายใหญ่ที่สุดในแคนาดาว่า

ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ประชาธิปไตยจะคงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ในประเทศไทย เรื่องที่จะต้องพิจารณากันก็คือ จะยอมให้เจตนารมณ์ของประชาชนกำหนดลักษณะของรัฐบาล หรือจะถอยหลังกลับเข้าสู่ระบบเผด็จการเก่า หรือ ประชาธิปไตยแบบที่ต้องมีผู้นำ

สำนักข่าว Al Jazeera ให้ความเห็นว่า นายกรัฐมนตรีของไทยมีทางเลือกอยู่สองทาง คือลาออกพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี และปล่อยให้ฝ่ายค้านพยายามจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ถ้าไม่สำเร็จ ก็จะมีการเลือกตั้งกันใหม่

อีกทางหนึ่งคือยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่ถ้าผลการเลือกตั้งไม่แตกต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ Al Jazeera ไม่คิดว่า กลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยจะยอมเลิกการรณรงค์ต่อต้าน

เมื่อมองไปในอนาคต ความคิดของคุณสุรพงษ์ (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ไปร่วมการชุมนุมประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล และให้สัมภาษณ์ไว้กับ Ron Corben ผู้สื่อข่าวของ Voice of America อาจจะแสดงความรู้สึกนึกคิดของประชาชนโดยทั่วไปได้ว่า

ไม่มีใครทราบว่า อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป และว่าผู้คนจะต้องสวดมนต์ภาวนาขอให้พระปกป้องคุ้มครองเพื่อให้เกิดความดีงามในประเทศ เพราะว่ามีสาเหตุหลายอย่างหลายประการที่ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์อย่างที่เป็นอยู่เวลานี้

XS
SM
MD
LG