ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยาสมุนไพร ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นได้จริงหรือไม่?


สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐชี้ว่า โรคสมาธิสั้นเป็นอาการป่วยทางจิต ที่พบมากที่สุดในหมู่เด็ก และยาต่างๆ ที่ใช้รักษาเด็กเหล่านี้กมีผลข้างเคียงที่ร้ายแรง ดังนั้นพ่อแม่บางคนจึงหันไปหาทางเลือกอื่นๆ รวมไปถึงการใช้สมุนไพร

แพทย์กล่าวว่าการที่จะชี้ว่าเด็กมีอาการไฮเปอร์แอคทีฟ หรือเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่นั้น เป็นเรื่องยาก

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักจะยุ่งวุ่นวาย และคอยขัดจังหวะเวลาที่คนอื่นคุยกันอยู่ตลอดเวลา

อาการอื่นๆ ของโรคสมาธิสั้นนั้น รวมถึงการทำสิ่งต่างๆ โดยไม่คิด และไม่มีสมาธิกับงานที่ทำอยู่

อาเดรียน่า อาร์โฮน่า ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นตอนอายุหกขวบ อาเดรียน่าบอกว่า ผู้คนปฏิบัติตัวกับเธอแบบแปลกๆ และบางครั้งก็เข้ากับคนอื่นได้ยาก เพราะเธอแตกต่างจากคนอื่นๆ

อาเดรียน่าบอกอีกว่า เธอมักจะต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และควบคุมสมาธิได้ยาก คุณแม่ของเธอกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงต่างๆ จากการใช้ยาควบคุมโรคสมาธิสั้นแบบดั้งเดิม อย่างเช่นยาแอดเดอรัล คอนเซอร์ต้า หรือริทาลิน ยาเหล่านี้เมื่อใช้ไปนานๆ อาจทำให้ติดได้ และสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการป่วยอื่นๆ อยู่ด้วย ก็อาจมีผลให้เสียชีวิตได้ด้วย

ดังนั้นคุณแม่ของอาเดรียน่าจึงให้เธอใช้ยาสมุนไพรของเซนต์ จอห์น ซึ่งเป็นยาสมุนไพร ที่คุณพ่อคุณแม่จำนวนมากให้บุตรของตนที่เป็นโรคสมาธิสั้นใช้กัน

ดร. เวนดี้ เวบเบอร์ นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแบสเทียร์ ในรัฐวอชิงตัน เขียนวิทยานิพนธ์ในการ ศึกษาระดับปริญญาเอก เรื่องสมุนไพรของเซนต์ จอห์น และได้ทำการทดลองเรื่องการรักษา ด้วยสมุนไพรด้วย

ดร. เวนดี้บอกว่า จากการทดลองพบว่า เด็กที่ใช้ยาสมุนไพรของเซนต์ จอห์น ไม่ได้มีอาการที่ดีไปกว่าเด็กที่รับประทานยาหลอกเลย ดังนั้นจากการทดลองจึงไม่เห็นข้อดีใดๆ ของสมุนไพรนี้

นอกจากนี้นักวิจัยได้ศึกษาเด็กๆ ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นจำนวน 54 คน เด็กครึ่งหนึ่งรับประทานยาสมุนไพรเซนต์ จอห์น และอีกครึ่งหนึ่งรับประทานยาหลอก

ดร. เวนดี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแบสเทียร์บอกว่า แม้ว่าสมุนไพรเซนต์ จอห์น จะเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องปลอดภัยเสมอไป ดังนั้นจึงสามารถ พูดคุยปรึกษากับแพทย์ได้ตลอดเวลา เกี่ยวกับการรักษาด้วยสมุนไพรธรรมชาติ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงปฏิกิริยาต่างๆ อยู่เสมอ

การศึกษาในเรื่องนี้ของ ดร. เวนดี้ เวบเบอร์ ตีพิมพ์อยู่ในวารสารสมาคมการแพทย์แห่งอเมริกา

XS
SM
MD
LG