ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหประชาชาติ อนุญาตให้จีนซื้องาช้างจากแอฟริกาได้


คณะกรรมาธิการของสหประชาชาติ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลการค้างาช้าง ลงมติอนุญาตให้จีนร่วมการประมูลซื้องาช้างจากแอฟริกาได้ นับเป็นประเทศที่สองในเอเชีย นอกไปจากญี่ปุ่นที่ได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้

สมาชิกส่วนใหญ่ของคณะกรรมาธิการของสหประชาชาติชุดนี้ ลงความเห็นว่า จีนได้ปรับปรุงการควบคุมตรวจสอบการค้างาช้าง และสามารถเข้าร่วมการประมูลซื้องาช้างปริมาณ 108 ตันจากแอฟริกาได้

กลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมาธิการของสหประชาชาติในเรื่องนี้ กล่าวว่า การอนุญาตให้จีนเข้าไปร่วมการประมูลซื้องาช้างจากแอฟริกา จะทำให้มีการลักลอบฆ่าช้างเพื่อเอางาไปขายมากขึ้น

การค้างาช้างถูกห้ามมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1989 เพื่ออนุรักษ์ช้างที่ลดจำนวนลงเพราะการฆ่าช้างเพื่อเอางา แต่หลายประเทศในแอฟริกา เช่น Botswana, Namibia, แอฟริกาใต้ และ Zimbabwe ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ช้าง จนต้องมีการฆ่าช้างเพื่อควบคุมปริมาณให้สมดุลกับระบบนิเวศของประเทศ และในปีค.ศ. 2002 สหประชาชาติอนุญาตให้มีการค้างาช้างที่มาจากช้างที่ตายตามธรรมชาติ หรือจากช้างที่ถูกฆ่าเพื่อควบคุมปริมาณได้

มาตรการดังกล่าวช่วยให้มีการลอบฆ่าช้างเพื่อเอางาน้อยลง แต่ปัญหายังไม่หมดไปทีเดียว

โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีน นาย Liu Jianchao กล่าวโต้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์จีนในเรื่องนี้ว่า ทางการจีนได้ออกกฎหมายและดำเนินการปราบปรามการลอบฆ่าช้างอย่างจริงจัง

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า การลักลอบค้างาช้างในจีนลดลงเป็นอย่างมาก และว่าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศหลายรายได้ประเมินผลงานของจีนในเรื่องนี้อย่างเป็นกลาง และหวังว่าจะมีรายงานที่ให้ข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลางออกมาด้วย

อย่างน้อยมีสองประเทศในแอฟริกา คือ Ghana และ Kenya และสององค์กรที่คัดค้านการตัดสินใจของคณะกรรมาธิการของสหประชาชาติในเรื่องนี้

คุณ Allan Thornton ผู้อำนวยการสำนักงาน Environmental Investigation Agency ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ติดตามตรวจสอบการค้าสัตว์ป่า กล่าวว่า ทางการจีนประสบความล้มเหลวในการป้องกันการค้างาช้างเถื่อน และว่าจีนเป็นแหล่งลักลอบค้างาช้างใหญ่ที่สุดในโลก

ผู้อำนวยการสำนักงาน Environmental Investigation Agency กล่าวว่า การได้รับอนุญาตให้ค้างาช้างได้อย่างถูกกฎหมาย จะเป็นเครื่องกำบังการค้างาช้างเถื่อนให้กับจีน เพราะจะแยกแยะระหว่างงาช้างที่ค้าตามกฎหมายกับการค้าเถื่อนได้ยากมาก

แต่กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าอื่นๆ อย่างเช่น World Wildlife Fund และ TRAFFIC ให้ความเห็นว่า จีนอาจใช้โอกาสนี้ให้ความช่วยเหลือโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าของประเทศต่างๆในแอฟริกา และสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนของตนเกี่ยวกับการค้างาช้างเถื่อนได้ด้วย

XS
SM
MD
LG