ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีผลต่อมาตรฐานการครองชีพอย่างไรบ้าง?


ในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยทำให้คนมีรายได้ดีขึ้น ช่วยขจัดความยากจน และช่วยปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอัตราสูง อย่างในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค ซึ่งการผลิตดีขึ้นในอัตรา 4 – 5 % ต่อปี

การมีโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และนวัตกรรมไฮเท็คอื่นๆ ใช้กันอย่างกว้างขวาง ทำให้เศรษกิจขยายตัวเติบโต การบริบาลสุขภาพ และการผลิตด้านเกษตรกรรมดีขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็ยังล้าหลังประเทศพัฒนาแล้วอยู่มาก

โทรศัพท์มือถือ เป็นตัวอย่างหนึ่งของเทคโนโลยีก้าวหน้าแบบกระโดดไกลที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาได้ประโยชน์จากข่ายงานสื่อสารโทรคมนาคมที่คลุมขอบข่ายกว้างขวาง

เราไปดูตัวอย่างแรกกันที่หมู่บ้านชานกรุงกาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานเจ้าของร้านของชำที่หมู่บ้านนี้บอกว่าการมีโทรศัพท์มือถือทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปสำหรับชีวิตของเขา

Abdul Wakil เล่าว่าเมื่อก่อนต้องเดินทางเข้าเมืองเพื่อสั่งของเข้าร้าน มาตอนนี้เพียงใช้โทรศัพท์ติดต่อก็ได้ของแล้ว ไม่ต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่ายก็น้อยกว่ามากด้วย

สหพันธ์โทรคมนาคมระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขณะที่มีสัญญาณโทรศัพท์มือ ถือสำหรับประชากรของอัฟกานิสถานถึง 72 % แต่มีคนราว 1 ใน 100 คนที่มีโทรศัพท์สายดินแบบธรรมดา ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การที่โทรศัพท์มือถือแพร่หลายอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนาอย่างอัฟกานิสถานนั้น เป็นผลจากปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งรวมทั้งการได้รับรู้สัมผัส การรับเข้ามาใช้ในประเทศ และมีสภาพแวดล้อมที่เทคโนโลจีเหล่านั้นจะคงอยู่ได้

Andrew Burns นักเศรษฐศาตร์คนสำคัญที่ธนาคารโลกผู้เสนอรายงานการศึกษาการแพร่หลายของเทคโนโลจีในประเทศกำลังพัฒนา กล่าวว่า การมีสภาพแวดล้อมที่อำนวยก็คือการมีประชากรที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลจีเหล่านั้นได้

การใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่หลายประเทศเปิดระบบโทรศัพท์เป็นรัฐวิสาหกิจและให้บริษัทเอกชนสร้างข่ายโทรศัพท์มือถือได้ เมื่อสิ้นปี 2549 การขอเข้าใช้บริการโทรศัพท์มือถือราว 68 % ของทั้งหมดทั่วโลก อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

นักเศรษฐศาตร์ธนาคารโลกกล่าวว่าการใช้ง่ายใช้สะดวกเป็นกุญแจสำคัญของการที่โทรศัพท์มือถือแพร่ออกไปกว้างขวางอย่างรวดเร็ว

Andrew Burns กล่าวว่า ถึงจะไม่รู้หนังสือ คิดเลขยากๆ ไม่เป็น ก็สามารถที่จะกดตัวเลขบนโทรศัพท์ได้ ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำให้คนมีความสามารถในการทำอะไรๆ ได้มากขึ้น รวมทั้งในการจัดการด้านการเงิน ตอนนี้ การธนาคารทางโทรศัพท์มือถือกำลังเป็นที่นิยมในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งคนจำนวนมากไม่มีบัญชีธนาคาร

ส่วนในเคนยา บริการโทรศัพท์มือถือราคาย่อมเยา ที่เรียกกันว่า M-Pesa ทำให้ประชาชนสามารถส่งและรับเงินได้โดยการส่งเป็นข้อความ หรือ text message ทางโทรศัพท์มือถือ บริการนี้กำลังเป็นที่นิยมกันมาก เพราะไม่ต้องเดินทางไกลๆ ไปส่งหรือรับเงินสด

Daniel Rohio ชาวเคนยา เล่าว่าหากเขาต้องการส่งเงินให้แม่หรือคุณย่าคุณยาย ก็อาจจะต้องรอวันหนึ่งหรือสองวัน เขาเห็นว่า บริการรับส่งเงิน M-Pesa ซึ่งไปขึ้นเงินได้เลยนั้น สะดวกขึ้น

นอกจากนี้ โทรศัพท์มือถือ ยังเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ อย่างโรค AIDSได้ด้วย อย่างในรวันดา เจ้าหน้าที่บริบาลสุขภาพตามสถานพยาบาลในเขตชนบทใช้โทรศัพท์มือถือติดโปรแกรมพิเศษเฉพาะที่บริษัท Voxiva ของสหรัฐจัดทำขึ้นมา โปรแกรมหรือsoftware นั้น ช่วยให้เจ้าหน้าที่บริบาลสุขภาพสามารถใส่ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยและยาที่มีอยู่ เข้าไปในโทรศัพท์มือถือ แล้วส่งข้อมูลนั้นทาง text message ไปให้เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขในกรุง คิกาลีได้ ด้วยข้อมูลเหล่านั้น เจ้าหน้าที่จะสามาถติดตามตรวจตราการแพร่ระบาดของโรค AIDS และ จัดส่งเวชภัณท์ไปให้สถานพยาบาลเหล่านั้นได้

Jean Luc Hassan Kavumu พยาบาลที่สถานีอนามัยในชนบทในรวันดา กล่าวว่า ระบบนี้ช่วยผู้ป่วยหลายคน โดยที่เขาไม่ต้องทิ้งผู้ป่วย เพื่อเดินทางเข้าเมืองไปส่งข้อมูลและรับยา

อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศ ความยากจนมีมากจนกระทั่งโทรศัพท์มือถือยังเข้าไปช่วยในการพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ได้มากนัก

ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า การมีแแหล่งกระแสไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ ระบบเส้นทางคมนาคมที่ก้าวหน้า และโครงสร้างสาธารณูปโภคอื่นๆ เป็นเรื่องสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการที่จะมีการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

XS
SM
MD
LG