ลิ้งค์เชื่อมต่อ

แง่มุมด้านการเมือง จากการให้เงินบริจาคผู้ประสบภัยในพม่า และจีน


ปฏิกิริยาของรัฐบาลในการตอบสนองภัยพิบัติ สามารถส่งผลกระทบทางการเมืองในประเทศนั้นๆ ได้ ความเสียหายร้ายแรงอย่างในกรณีพายุไซโคลน Nargis ที่เข้าไปในพม่า และแผ่นดินไหวในจังหวัด Sichuan ของจีน เมื่อไม่นานมานี้ กระตุ้นให้ผู้คนทั้งหลายต้องการจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้รับเคราะห์ในทั้งสองประเทศ

คุณ Barry Scanlon อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานการบริหารความช่วยเหลือยามฉุกเฉินของรัฐบาลสหรัฐ หรือเรียกกันย่อๆว่า FEMA กล่าวว่า การจัดการการตอบสนองภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นของรัฐบาลพม่าและจีน มีผลกระทบทางการเมืองตามมาด้วย

ในขณะที่รัฐบาลจีนแสดงความเปิดเผยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนต่อนักข่าว ทั้งชาวจีนและชาวต่างประเทศ พร้อมๆกับการส่งความช่วยเหลือและเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เข้าไปทำงานในบริเวณที่เกิดเหตุ

คณะทหารที่ปกครองพม่าปฏิเสธที่จะปล่อยให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เข้าไปทำงานในพม่า และในที่สุด เมื่อจำต้องยอมรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ก็ยังไม่ยอมอนุญาตให้เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์และนักข่าวเข้าไปทำงาน ในขณะที่รัฐบาลยึดเอาความช่วยเหลือไป โดยกล่าวว่า จะเป็นผู้แจกจ่ายความช่วยเหลือเหล่านั้นให้ประชาชนเอง

คุณ Barry Scanlon อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานการบริหารความช่วยเหลือยามฉุกเฉินของสหรัฐ กล่าวว่า ดูเหมือนว่า สถานการณ์ทางการเมืองในบางส่วนของโลก ทำให้มีการตัดสินใจผิดพลาด ทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือเพื่อช่วยประชาชนของตน ในขณะที่เห็นได้ชัดว่า ความช่วยเหลือนั้นเป็นที่ต้องการ

ศาสตราจารย์ Richard Olson สอนวิชารัฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัย Florida International และมีงานเขียนไว้มากเกี่ยวกับเรื่องปฏิกิริยาของรัฐบาลต่อภัยพิบัติและการผลกระทบทางการเมือง ให้ความเห็นว่า นอกจากรัฐบาลจีนจะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตแล้ว ยังประมาณการได้ถูกต้องและฉลาดเฉลียวด้วยว่า เป็นโอกาสที่จะทำคะแนนกับประชาชนของตนด้วยการมีปฏิกิริยาตอบโต้ที่ดี และเปิดรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

ในขณะที่ปฏิกิริยาของรัฐบาลพม่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลัวอิทธิพลภายนอกนั้น จะมีผลกระทบเกิดขึ้นตามมาในระยะยาวอย่างแน่นอน

อาจารย์ Richard Olson บอกว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติ และรัฐบาลจัดการไม่ได้ สามารถตีความทางการเมืองได้ว่า พระเจ้าจักรพรรดิไม่มีฉลองพระองค์ และประชาชนชาวพม่า ก็จะพากันพูดว่า ทำไมเราจึงยอมรับรัฐบาลทหารให้ปกครองประเทศ ถ้าจัดการกับวิกฤติการณ์ไม่ได้

ในสหรัฐเองก็มีบทเรียนในลักษณะเดียวกัน เมื่อพายุเฮอริเคน Katrina เข้ากระหน่ำเมืองนิวออร์ลีนส์ เมื่อราวๆ 3 ปีที่แล้ว แม้ผู้คนจะตำหนินาย Michael Brown ผู้อำนวยการ FEMA ประธานาธิบดี George Bush กลับยกย่องบุคคลผู้นี้ ซึ่ง 10 วันต่อมาต้องยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง

คุณ Barry Scanlon อดีตเจ้าหน้าที่ FEMA กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลชุดประธานาธิบดี Bush ตระหนักถึงความเสียหายจากพายุและผลกระทบทางการเมืองที่ตามมาแล้ว จึงได้มีปฏิกิริยาตอบโต้ที่มีการประสานงานดีขึ้น แต่ช่วงเวลา 3-4 วันแรกหลังจากเกิดพายุนั้น เลวร้ายมากสำหรับผู้รับเคราะห์ และต่อรัฐบาล

นักวิเคราะห์กล่าวไว้ด้วยว่า เพราะว่ารัฐบาลต่างประเทศสามารถสร้างความนิยมทางการเมืองได้ด้วยการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในประเทศที่อาจเป็นศัตรู หรือที่ไม่เป็นมิตร นั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลเจ้าของบ้านบางประเทศ ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

XS
SM
MD
LG