ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ แสดงทรรศนะวิจารณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า


สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือสมาคมอาซียน กล่าวว่าเรื่องที่รัฐบาลพม่าอ้างว่า การเพียรพยายามกู้ภัย เนื่องจากพายุไซโคลนนาร์กีซจบสิ้นลงไปแล้ว เป็นการบ่อนเซาะความไว้วางใจของนานาประเทศ ในเมื่อยังไม่ทราบว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดกี่ราย

ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมอาซียน แสดงทรรศนะวิจารณ์ข้างต้น ขณะที่เลขาธิการสหประชาชาติ บานกีมูน พบหารือกับนายกรัฐมนตรีพม่า เพื่อเพียรพยายามเร่งรัดให้การเพียรพยายามบรรเทาทุกข์ เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ก่อนหน้าที่บรรดาประเทศผู้บริจาคจะประชุมกันในวันอาทิตย์

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมอาเซียน กล่าวต่อบรรดาผู้สื่อข่าว ในวันพฤหัสบดีว่า การที่รัฐบาลทหารพม่าอ้างว่า การเพียรพยายามบรรเทาทุกข์เสร็จสิ้นลงแล้ว และให้ดำเนินการบูรณะปฎิสังขรณ์กันต่อไปนั้น เป็นการบ่อนเซาะความไว้วางใจของนานาประเทศ ดร. สุรินทร์กล่าวว่า องค์การระหว่างประเทศยังคงกล่าวว่า ยังไม่มีการตรวจพิสูจน์อย่างเต็มที่เกี่ยวกับขอบข่ายของความหายนะเลย

ทางการพม่า กล่าวว่า พายุไซโคลนนาร์กีซ ซึ่งโหมกระหน่ำพม่าเมื่อวันที่ 2 และวันที่ 3 เดือนนี้ คร่าชีวิตประชาชนไปราวๆ 7 หมื่น 8 พันราย และยังมีผู้ที่หายสาบสูญไปอีก 56,000 คน ประชาชนผู้ต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่ง ยังคงมีจำนวนราว 2 ล้าน 5 แสนคน

สหประชาชาติกล่าวว่า ในบรรดาประชาชนผู้ต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่งนั้น ที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว มีจำนวนแค่ร้อยละ 30

บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของภาคีสมาคมอาเซียน และ พม่า ตกลงกันในสัปดาห์นี้ว่า จะมีการขยายขอบข่ายการเข้าพม่า สำหรับความช่วยเหลือของภูมิภาค สมาคมอาเซียน และสหประชาชาติตั้ง พันธมิตรแห่งเมตตาธรรม โดยมีจุดมุ่งจะเร่งการให้ความช่วยเหลือมากขึ้น คณะทหารพม่า โดนวิพากษ์ตำหนิอย่างกว้างขวาง ฐานจำกัดวงการเข้าถึงพิ้นที่ประสบความหายนะมากที่สุดของบรรดาองค์การระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือ

ในวันพฤหัสบดี เลขาธิการสหประชาชาติ บานกีมูน พบหารือกับนายกรัฐมนตรีพม่า เทียน เสียน เพื่อเร่งรัดฝ่ายทหารพม่า ให้เปิดประเทศเพื่อให้การบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศ เข้าถึงพิ้นที่ที่ประสบความหายนะอย่างรุนแรงที่สุดนั้นได้มากขึ้น นายบานกีมูน จะพบหารือกับพลเอก ตานฉ่วย ในวันศุกร์

การเยือนพม่า ของนาย บานกีมูน มีขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการประชุมของประเทศผู้บริจาคในวันอาทิตย์ ขณะที่พม่ากล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดจากพายุไซโคลนนาร์กีซ นั้นคิดเป็นเงินหนึ่งหมื่นหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ องค์การให้ความช่วยเหลือซึ่งมิใช่องค์การภาครัฐกำลังเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศสนับสนุนความคิดริเริ่ม ของสมาคมอาเซียนที่ให้มีการประชุมของประเทศผู้บริจาค

เจอร์เมล มาห์หมูด ประธานขององค์การเมตตาธรรมแห่งมาเลเซียกล่าวว่า สมาคมอาเซียนต้องทราบว่า มิได้ทำการไปตามลำพังและต้องทราบว่า อาเซียนได้รับความสนับสนุนขององค์การระหว่างประเทศ เกี่ยวกับเรื่องความช่วยเหลือผู้มีประสบการณ์ที่จะมีบทบาทอย่างแข็งขันในการทำให้แน่ใจว่า การช่วยเหลือเพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม จะต้องมาก่อน แล้วถึงจะไปถึงเรื่องการฟื้นฟูและการบูรณะปฎิสังขรณ์

แต่กลุ่มสนับสนุนสิทธิมนุษยชนเป็นห่วงเรื่องที่ว่า กองทุนเพื่อการช่วยเหลือจะต้องมีการกำกับดูแลอย่างถี่ถ้วน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ท่ามกลางความหวาดเกรงเกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง

คุณเดบบี้ สต๊อตฮาร์ท โฆษกสตรีของกลุ่มสนับสนุนสิทธิมนุษยชน คือข่ายงาน Alternative ASEAN กล่าวว่า ความโปร่งใสและความรับผิดชอบจะเป็นเรื่องที่ประเทศผู้บริจาคคำนึงถึงมากที่สุด

เธอกล่าวว่า สิ่งที่เราต้องการให้ประชาคมด้านการช่วยเหลือ แสดงให้เห็นก็คือ มีการตอบ สนองอย่างแข็งขันแบบเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หาใช่แค่เป็นการขอเงินเท่านั้น แต่มีการยืนกรานว่า จะต้องกำหนดกฎข้อบังคับและบรรทัดฐานด้วย

บรรดาองค์การให้ความช่วยเหลือกล่าวว่า พม่ายอมให้ใช้เครื่องบินลำเลียงความช่วยเหลือซึ่งประกอบด้วยเสบียงสัมภาระฉุกเฉินนั้นเข้าพม่าได้มากขึ้น รวมทั้งเครื่องบินของสหรัฐด้วย และว่าเมื่อคำนึงถึงขอบข่ายของความหายนะแล้ว พม่าจำเป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อการบรรเทาทุกข์เพิ่มเติมอีก

XS
SM
MD
LG