ลิ้งค์เชื่อมต่อ

โรงเก็บก๊าซใต้ดินขนาดใหญ่ของออสเตรเลีย


เวลานี้ที่ออสเตรเลียกำลังมีความพยายามลดปัญหาโลกร้อน ด้วยการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เชื่อว่าเป็นตัวการให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกไปฝังไว้ใต้ดิน

โรงเก็บก๊าซใต้ดินขนาดใหญ่แห่งแรกของออสเตรเลียที่รัฐวิคตอเรียจะทำหน้าที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากโรงงานไฟฟ้าไว้ลึกลงไปราว 2 กิโลเมตรใต้พื้นผิวโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าโครงการนี้จะช่วยให้ออสเตรเลียสามารถลดปริมาณก๊าซที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกลงได้มากทีเดียว อย่างไรก็ตาม นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมหลายคนยังคงตั้งคำถามกับโครงการนี้

ใกล้กับเมือง Warnambool ทางตะวันตกของกรุงเมลเบิร์น ลึกลงไปใต้ดินมีเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่แห่งแรกของออสเตรเลีย ภายในหลุมนั้นจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานไฟฟ้าซึ่งผ่านการควบแน่นให้กลายเป็นของเหลวบรรจุอยู่ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าโรงเก็บก๊าซใต้ดินแห่งนี้สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เชื่อว่าเป็นตัวการให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกได้อย่างปลอดภัยถึง 1 แสนตัน

ลักษณะการเรียงตัวของชั้นหินใต้ดินในหลุมนั้นทำหน้าที่คล้ายกับฟองน้ำขนาดมหึมา ซึ่งคอยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลวที่ผ่านการควบแน่นแล้ว โดยนักวิทยาศาสตร์หวังว่าก๊าซเหลวจะถูกกักไว้ใต้ดินตลอดไป

ศาสตราจารย์ Victor Rudolph นักวิศวกรรมเคมีจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ ควีนสแลนด์บอกว่า การกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นต้องเริ่มจากการขุดโพรงหรือสร้างหลุมใต้ดินแบบมีที่ปิดอย่างแน่นหนาปลอดภัย จากนั้นจึงควบแน่นก๊าซให้กลายเป็นของเหลวแล้วอัดฉีดเข้าไปในโพรงหรือหลุมใต้ดินนั้นซึ่งจะสามารถเก็บก๊าซไว้ได้เป็นเวลานานหรืออาจจะตลอดไป

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์หลายคนระบุว่า กระบวนการดังกล่าวเสียค่าใช้จ่ายสูง และก๊าซที่รั่วไหลออกมาจากใต้ดินอาจเป็นอันตรายได้ในอนาคต ซึ่งคุณ Peter Cook หัวหน้าผู้ออกแบบโครงการนี้ก็ออกมายืนยันว่า เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในโครงการนั้นได้รับการตรวจสอบอย่างระมัดระวัง

หัวหน้าสถาปนิกผู้นี้บอกว่าโครงการนี้ใช้ระบบตรวจสอบการกักเก็บก๊าซคารบอนไดออกไซด์ที่ดีที่สุด และเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศมากมาย จึงนับว่าเป็นการทดสอบระบบกักเก็บก๊าซใต้ดินขนาดใหญ่ครั้งแรกของออสเตรเลีย โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลียและบริษัทถ่านหินรายใหญ่ของออสเตรเลีย ซึ่งนอกจากออสเตรเลียแล้ว ยังมีประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นและอเมริกา ที่กำลังพยายามคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บก๊าซใต้ดินนี้เช่นกัน

องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมบางกลุ่มเชื่อว่าโครงการกักเก็บก๊าซใต้ดินนั้น มีปัจจัยอื่นๆที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้มากมาย และผู้คัดค้านบางกลุ่มก็ให้เหตุผลว่า เงินลงทุนมหาศาลที่ใช้ไปกับโครงการสร้างหลุมเก็บก๊าซที่รัฐวิคตอเรียนี้ หากนำไปใช้ลงทุนกับเทคโนโลยีเพื่อพลังงานทางเลือกอื่นๆที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังลม จะคุ้มค่ากว่า

XS
SM
MD
LG