ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทัศนะคติเกี่ยวกับเศรษฐกิจอเมริกาจาก ดร.ไพศาล ลิ่มรัตนมงคล


ดร. ไพศาล ลิ่มรัตนมงคล ผู้บริหารการเงินในบริษัทบริหารการเงินขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในนครนิวยอร์ค แสดงทัศนะเกี่ยวกับคำถามที่กำลังมีผู้ถามกันมากในขณะนี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐ อยู่ในภาวะถดถอยแล้วหรือไม่


ดร. ไพศาลให้คำตอบว่า ถ้าจะพิจารณาอย่างเป็นทางการแล้ว ยังไม่ตกอยู่ในภาวะถดถอย แต่โดยส่วนตัวแล้ว เห็นว่าช่วงนี้เศรษฐกิจสหรัฐตกอยู่ในภาวะถดถอยแล้ว

ดร. ไพศาลระบุว่า ถ้าจะถามว่า สหรัฐอยู่ในภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ เพราะการที่จะกำหนดว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการ ต้องรอการคำนวนที่ค่อนข้างซับซ้อน แล้วก็ต้องผ่านช่วงที่เศรษฐกิจหดตัว เป็นระยะเวลาติดต่อกันพอสมควร ดังนั้นถ้าเกิดเศรษฐกิจหดตัวเป็นแค่ช่วงสั้นๆ อย่างเช่นไตรมาสเดียว ไม่ถือว่าเป็นภาวะถดถอย

ดร.ไพศาลกล่าวต่อไปว่า เราต้องมาดูนิยามอย่างไม่เป็นทางการดูว่า เศรษฐกิจภาวะถดถอยคืออะไร คืออย่างน้อยต้องมีเศรษฐกิจที่หดตัวติดต่อกันเป็นระยะเวลาสองไตรมาส คือในไตรมาสแรกของปีนี้ ตัวเลขทางด้านเสรษฐกิจส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการจ้างงานที่ลดลง การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง การผลิตที่ลดลงต่างๆ เหล่านี้ชี้ให้เห็นได้ว่า เศรษฐกิจของอเมริกาอย่างในช่วงนี้ เริ่มหดตัวลงแล้ว

ทีนี้ต้องมาดูว่าไตรมาสหน้าจะเป็นอย่างไร คือมีดัชนีทางเศรษฐกิจตัวหนึ่ง ที่ชื่อว่า Leading Indicator ตัวนี้นี่จะเป็นดัชนีที่ใช้ในการคาดการณ์ภาพรวมทางเศรษฐกิจในอนาคต ดัชนีนี้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาได้มีการประกาศว่าหดตัวลงอีกแล้ว ซึ่งหดตัวเป็นระยะเวลาติดต่อกัน สี่ถึงห้าเดือนแล้ว ดังนั้นก็แสดงให้เห็นถึงการที่เศรษฐกิจในอเมริกาจะมีการหดตัวในอนาคต ซึ่งก็หมายถึงในไตรมาสต่อไป

สรุปโดยรวมจะเห็นได้ว่าไตรมาสนี้เศรษฐกิจหดตัว ไตรมาสหน้าโอกาสจะหดตัวเป็นไปได้สูง ดังนั้นเชื่อว่า ตอนนี้สหรัฐเศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอยแล้ว

ดร.ไพศาลอธิบายถึงผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางของอเมริกา ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.75% มาที่ 2.25% เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การลดดอกเบี้ยนี้ ปรกติกว่าจะส่งผล ต้องใช้เวลาพอสมควรอย่างหกเดือน ฉะนั้นการลดครั้งที่แล้ว ถ้าอยู่ในภาวะถดถอยแล้ว อาจจะไม่ช่วยเท่าไหร่ แต่จริงๆ แล้วธนาคารกลางของอเมริกาได้ลดดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว จาก 5.25% จนถึง 2.25% เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลได้บ้าง แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือ เราสังเกตผลจากการลดดอกเบี้ยครั้งที่ผ่านๆ มา พบว่าจริงๆ ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะว่าอะไร เนื่องจากเป้าหมายการลดดอกเบี้ยในส่วนนี้ก็คือ ธนาคารกลางหวังว่า จะเกิดการกู้ยืม ทั้งเพื่อการลงทุนและเพื่อการบริโภคมากขึ้น แต่ที่เราทราบก็คือว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดการมีเศรษฐกิจภาวะถดถอยครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากปัญหาทางด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์หรือที่เกี่ยวกับกลุ่มผู้อยู่ในกลุ่มซับพราม หรือกลุ่มผู้ที่มีเครดิตไม่เพียงพอนั่นเอง

ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ถือหลักทรัพย์หรือถือตราสารที่เกี่ยวพันกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ อย่างมากซึ่ง ปัญหาสำคัญก็คือว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกา ยังทรุดตัวลงอยู่เรื่อยๆ และตราสารพวกนี้ก็มีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ ทำให้เกิดความไม่ไว้วาง ใจกันระหว่างสถาบันการเงินว่า ใครถืออะไรอยู่บ้าง ดังนั้นจึงไม่เกิดการกู้ยืมระหว่างสถาบันทางการเงิน ซึ่งจริงๆ ตรงนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการล้มของบริษัทเงินทุนที่ใหญ่เป็นอันดับห้าของอเมริกา ชื่อ Bear Stearns ในช่วงที่เพิ่งผ่านมา แล้วทางด้านผู้บริโภคเองก็ไม่สามารถกู้ยืมเงินได้ง่ายเท่าที่ธนาคารกลางหวังไว้ว่าธนาคารทั่วไป สถาบันการเงินทั่วไป เกิดความเกรงกลัวที่จะให้การกู้ยืม และส่วนธนาคารหรือสถาบันการเงินทั่วไปก็มีปัญหาส่วนตัวอยู่แล้ว ดังนั้นการกู้ยืมทางด้านนั้นก็ไม่ดีเท่าที่ควร คือตราบใดที่มีปัญหาเรื่องตลาดอสังหาริมทรัพย์และปัญหาทางด้านการกู้ยืมเหล่านี้ การลดดอกเบี้ยก็อาจจะไม่ช่วยในด้านการกรตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ธนาคารกลางหวังไว้


XS
SM
MD
LG