ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การทำขยะให้เป็นสิ่งของที่ใช้ประโยชน์ได้


อาจารย์ผู้สอนวิชาออกแบบอุตสาหกรรม ที่มหาวิทยาลัย Western Washington ในเมือง Seattle รัฐ Washington ได้สอนให้นักศึกษาคิดค้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยการหาวิธีนำขยะเหลือใช้กลับมาออกแบบและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และยังสามารถขายได้อีกด้วย

โจทย์ที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งได้รับจากอาจารย์ผู้สอนวิชาออกแบบอุตสาหกรรม ที่มหาวิทยาลัย Western Washington ในเมือง Seattle รัฐ Washington ก็คือทำอย่างไรจะสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้ดูดี น่าใช้ แต่ต้องทำมาจากสิ่งเหลือใช้ที่นำกลับมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ได้ และที่สำคัญ โจทย์นี้ยังท้าทาย ตรงที่ผลิตภัณฑ์พวกนี้ต้องประดิษฐ์มาจากขยะอุตสาหกรรม ที่ไม่มีใครต้องการด้วย

ราเชล บียาร์เนอร์สัน นักศึกษาภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรมคนหนึ่งบอกว่า แทนที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีวงจรชีวิต ซึ่งในที่สุดก็ต้องหมดอายุไป แต่โครงการนี้จะเป็นการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่แทน

บทเรียนแรกที่นักศึกษาต้องเรียนรู้ ก็คือไม่ใช้แค่ออกแบบวัสดุให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ต้องคิดด้วยว่าจะนำวัสดุอย่างหนึ่งไปเชื่อมติดกับวัสดุอีกอย่างหนึ่งอย่างไรด้วย

คุณบียาร์เนอร์สัน ยังบอกอีกว่า ถ้าจะใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างอลูมีเนียม แต่เอาไปเชื่อมกับพลาสติก ก็ไม่ใช่วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้แล้ว เพราะส่วนประกอบแบบนี้ทำให้นำไปหลอมมาใช้ใหม่ไม่ได้ นอกจากนี้ เธอบอกว่าเหตุผลอีกอย่างที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้กาวแบบติดถาวร ก็คือ กาวแบบนี้จะปล่อยสารเคมีที่มีพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมด้วย

ขณะเดียวกัน เซท ทัคเคอร์ นักศึกษาอีกคนหนึ่งตั้งใจว่าจะออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้งที่ขอมาจากร้านอาหารจีนและญี่ปุ่น

คุณทัคเคอร์ บอกว่า เขาพบว่าทั้งจีนและญี่ปุ่นทิ้งตะเกียบแบบนี้ปีละหนึ่งพันล้านคู่ ซึ่งก็เหมือนกับว่าตัดไม้ทั้งป่ามาเพื่อทำตะเกียบแบบนี้เท่านั้น

เขาจึงไปขอตะเกียบมาจากร้านอาหารเอเชียในท้องถิ่น และนำมาทำความสะอาด แล้วกลึงและขัดออกมาให้เป็นเม็ดลูกปัดไม้ จากนั้นนำไปร้อยรวมกับเทอร์คอยซ์ธรรมชาติ และลูกปัดแบบแอฟริกา ได้เป็นสร้อยคอที่มีความเก๋ไก๋และสวยงามขึ้นมาได้

ในที่สุดนักศึกษากลุ่มนี้ ก็มีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุเหลือใช้หลากหลายแบบ และขั้นตอนสุดท้าย ก็คือการนำออกจำหน่าย มีหลายร้านที่ยอมนำสินค้าเหล่านี้ออกขาย และปรากฏว่า ผลตอบรับออกมาดีทีเดียว สินค้าหลายอย่างขายได้ทันที เช่น สร้อยคอลูกปัดไม้จากตะเกียบ หรือแผ่นห่อซูชิ ที่ทำจากซี่ล้อรถจักรยานสเตนเลส ที่เหล่าพ่อครัวหลายคนบอกว่า ใช้ได้ดีกว่าแผ่นห่อซูซิที่ทำจากไม้ไผ่แบบดั้งเดิม เพราะมีน้ำหนักดีกว่า

บทเรียนสุดท้ายของนักศึกษากลุ่มนี้ก็คือ ทำอย่างไรจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาสวยงาม น่าสนใจ และมีประโยชน์ เทียบเท่ากับสินค้าอื่นๆให้ได้ และที่สำคัญก็คือทำอย่างไรจึงจะทำให้ในที่สุด สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ และสิ่งประดิษฐ์จากวิชานี้ ไม่ต้องมีจุดจบอยู่ที่ถังขยะเช่นกัน


XS
SM
MD
LG