ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ดร.ไพศาล ลิ่มรัตนมงคล อธิบายถึงประเด็นปัญหาเศรษฐกิจการเงินด้านต่างๆ


ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังชะลอตัวลงอยู่อย่างมากนี้ ดร.ไพศาล ลิ่มรัตนมงคล ผู้บริหารการเงิน ในบริษัทบริหารการเงินขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในนครนิวยอร์ค อธิบายถึงประเด็นปัญหาเศรษฐกิจการ เงินด้านต่างๆ

ดร.ไพศาล ลิ่มรัตนมงคล กล่าวว่าอย่างที่ทราบว่าขณะนี้ สหรัฐอเมริกากำลังมีปัญหาทางด้านเศรษฐ กิจชะลอตัวลง และที่เป็นที่กังวลกันอยู่ในขณะนี้ก็คือว่า จะชะลอตัวมากจนเกิดเป็นภาวะเศรษฐกิจ ถดถอย หรือที่เรียกว่า recession ในภาษาอังกฤษหรือเปล่า

ถ้าเปรียบรถเป็นเหมือนเศรษฐกิจของอเมริกาในปีที่แล้วรถคันนี้วิ่งช้ามาก ช้ากว่าปรกติ แล้วตอนนี้ คนก็กังวลกันมากว่า รถคันนี้แตะเบรค และใส่เกียร์ถอยหลังเลยหรือเปล่า

นักเศรษฐศาสตร์ในอเมริกา ตอนนี้ก็แบ่งเป็น 2 ค่าย คือค่ายใหญ่ก็คือค่ายที่บอกว่า จะเกิดภาวะ ถดถอยแน่ๆ และค่ายเล็กคือ ค่ายนี้เล็กลงเรื่อยๆ บอกว่าคงไม่เกิด แต่อาจจะเฉียดๆ ภายใต้ค่ายที่ บอกว่าเกิดก็จะมีอีก 2 ค่าย คือค่ายที่บอกว่าเกิดแล้ว กับค่ายที่บอกว่ายังไม่เกิด แต่คงเกิดเร็วๆ นี้ แต่ ทุกค่ายจะเห็นพ้องกันว่า ปีนี้เศรษฐกิจของอเมริกาคงไม่ดี โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรกอย่างดีก็คือช่วงครึ่ง ปีหลังก็คงจะมีโอกาสที่จะฟื้นตัวขึ้นมา ทีนี้เรามาดูว่า ค่ายไหนมีโอกาสที่จะถูกมากกว่ากัน

ก็ดูจากตัวเลขเศรษฐกิจ ตัวแรกที่สำคัญก็คือว่าในปีที่ผ่านมา ในช่วงสามเดือนหลัง เศรษฐกิจของ อเมริกาแค่ .6 เปอร์เซนต์ ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของที่คนคาดการณ์ 1.2 เปอร์เซนต์ ดังนั้นตัวนี้ก็น่าเป็นห่วง ตัวเลขเกี่ยวกับการจ้างงานก็เหมือนกัน ทางด้านการจ้างงานในเดือนมกราคม พบว่ามีจำนวนงานลด ลง ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งมีการจ้างงานลดลง ถึงจะคำนวนว่าเป็นการจ้างงานลดลง ไม่มาก แต่ก็ลดลงซึ่งก็เป็นที่น่ากังวล

ตัวต่อมาคือตัวเลขของการใช้จ่ายของผู้บริโภคในปีที่ผ่านมา เป็นการโตที่ช้าที่สุดในรอบสี่ปี ซึ่งเศรษฐกิจของอเมริกา เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพา ผู้บริโภค 66 % โดยจำนวนนี้เป็นจำนวนที่มาก จึงเห็นว่า ถ้าเกิดการเติบโตตัวนี้น้อย ก็อาจมีผลกระทบทางด้านลบกับเศรษฐกิจของอเมริกา

ตัวเลขตัวต่อมา ตัวนี้สำคัญมากๆ เพราะเพิ่งออกมาเร็วๆ นี้ และเป็นตัวเลขการเติบโตทางภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม พบว่าทั้งสองตัวนี้ พลิกล็อคหมดเลย ทางภาคอุตสาหกรรม คนคาดการณ์ว่า จะลดลงกลับขยายตัว แต่ถึงจะขยายตัวน้อย ก็ยังเป็นการขยายตัว ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดี ส่วนทางภาคบริการก็พลิกล็อคเหมือนกัน คนคาดว่าจะขยายตัว เล็กน้อย หรืออย่างมากก็หดตัวเล็กน้อยกลับหดตัวอย่างรุนแรง ซึ่งการหดตัวอย่างรุนแรงนี้ เราไม่ได้เห็นกันมานาน ครั้งหลังสุดที่เห็นก็คือปี 2544 ซึ่งเป็นปีครั้งล่าสุดที่อเมริกา มีภาวะเศรษฐกิจถดถอย คนกังวลกันอย่างมากในตัวเลขนี้ เพราะว่า 90% ของเศรษฐกิจในอเมริกา อยู่ในภาคบริการ ดังนั้นตัวเลขที่ผ่านมา อาจจะชี้ให้เห็นว่า โอกาส ที่จะเกิดภาวะถดถอย เป็นไปได้มาก

แล้วถ้าอเมริกา เกิดภาวะถดถอย จะมีผลต่อประเทศไทยอย่างไร โดยตรงผมคิดว่าคงส่งผลในด้านการส่งออก ประเทศไทยส่งออกไปอเมริกา ในปี 2549 ประมาณกว่า 7 แสนล้านบาท ดังนั้นอเมริกาถือเป็นหนึ่งในคู่ค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ถ้าอเมริกาเกิดภาวะถดถอยจริง เราคงต้องมีมาตรการมาช่วยในส่วนนี้

แต่ในปีที่แล้ว ก็มีทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวว่า เศรษฐกิจของอเมริกานั้นใหญ่จริง แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกนั้นน้อยลงเรื่อยๆ โดยหลักฐานที่ช่วยส่งเสริมเรื่องนี้ก็คือว่า ในปีที่แล้ว อเมริกามีเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แต่ประเทศต่างๆ ในโลก ก็ยังคงเติบโตได้ด้วยดี โดยเฉพาะทางด้านเอเชีย ประเทศจีนก็โตกว่าสิบเปอร์เซนต์ ไทยเราก็คงโตประมาณ 4-5% แต่ปีที่แล้วอเมริกาแค่ชะลอตัว ถ้าเศรษฐกิจถดถอยจริงๆ ผมว่าก็คงเกิดปัญหาแก่ประเทศต่างๆ ได้บ้าง

แล้วมีโอกาสไหมที่เศรษฐกิจของอเมริกาจะไม่อยู่ในภาวะถดถอย คำตอบก็คือว่ามี ก็คงเป็นไปได้ที่จะไม่เกิด อย่างเช่นตัวเลขบางตัวที่กล่าวให้ทราบในข้างต้นก็ยังเป็นตัวเลขที่ดี หรือแม้แต่ในภาครัฐเองก็ตาม

ทางประธานาธิบดีบุชกับรัฐสภา ได้ออกกฏหมายที่จะคืนเงินให้แก่ผู้เสียภาษีกว่าห้าล้านล้านบาท โดยหวังว่าเงินจำนวนนี้ จะถูกนำไปใช้จ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นได้ และอีกทางหนึ่งก็คือทาง ภาคธนาคารกลางหรือที่เราเรียกว่าเฟ็ด ในเดือนมกราคม ได้ลดดอกเบี้ย ไปถึงร้อยละ 1.25% ในระยะเวลาห่างกันเพียงแค่ 8 วัน ซึ่งถือเป็นการลดอย่างมาก ดังนั้นธนาคารกลางก็หวังว่าจะกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมไปใช้ในการลงทุน ซึ่งมีผลทางบวกในทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคนก็ยังคาดการณ์ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยอีก แต่เราก็คงต้องมาดูกันว่า มาตรการเหล่านี้จะมีผลช่วยให้ เศรษฐกิจของอเมริกาหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้หรือไม่

XS
SM
MD
LG