ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เด็กที่เป็นโรคอ้วน เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจในภายหลัง


รายงานการวิจัย 2 ฉบับที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร New England Journal of Medicine ในสัปดาห์นี้ระบุว่าเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากเกินมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่

รายงานฉบับแรกคือผลการวิจัยของคุณ Jennifer Baker และเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยโคเปน เฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลจากน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กทุกคนที่เกิดที่เมือง Danish ระหว่างปี ค.ศ 1930 – 1976 ประมาณ 288,000 คน และติดตามผลด้านสุขภาพของเด็กเหล่านั้นจนถึงปี ค.ศ.2001 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเติบโตมีอายุระหว่าง 25-71 ปี

จากการวิจัยพบว่ายิ่งกลุ่มตัวอย่างตอนเป็นเด็กมีน้ำหนักมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจเมื่ออายุมากขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจล้มเหลวจนถึงแก่ชีวิตด้วย ความเสี่ยงที่ว่านี้ยิ่งเพิ่มสูงสุดในกลุ่มเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากที่สุดในแต่ละช่วงอายุ

คุณ David Ludwig ที่ปรึกษาด้านน้ำหนักจากโรงพยาบาลเด็กในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเสตต์ บอกว่าผลการวิจัยที่เดนมาร์กครั้งนี้สร้างความตื่นตัวเรื่องสุขภาพเด็กมากขึ้น

คุณ Ludwig บอกว่า คำนิยามเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากในงานวิจัยของเดนมาร์กชิ้นนี้ หากเทียบเป็นเด็กอเมริกันแล้วจะอยู่ในกลุ่มเด็กที่มีน้ำหนักปกติ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเด็กรุ่นใหม่ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปกำลังเผชิญความเสี่ยงอย่างสูงที่จะเป็นโรคหัวใจไปตลอดชีวิตรวมทั้งปัญหาด้านสุขภาพอย่างอื่นๆด้วย

สำหรับรายงานการวิจัยชิ้นที่ 2 โดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานฟรานซิสโก ที่ใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ในการประเมินโอกาสเกิดโรคหัวใจในหมู่เด็กอ้วนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้น จากการทดลองก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญพบว่า เด็กวัยรุ่นอายุระหว่าง 12-19 ปีจำนวน 3 ล้านคน จะเป็นโรคหัวใจเมื่อพวกเขาอายุได้ 35-50 ปี ซึ่งภายหลังจากการใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ตรวจสอบข้อมูลด้านน้ำหนักของเด็กอ้วนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 นักวิจัยพบว่าภายในปี ค.ศ.2035 จะมีเด็กที่เติบโตมาแล้วเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นมากกว่าการประเมินก่อนหน้านี้กว่า 1 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นราว 16% และในกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 35-50 ปี มีคนที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 19% ผลการทดลองครั้งนี้สร้างความแปลกใจแก่คณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียมากทีเดียว

คุณ Kirsten Bibbins-Domingo ผช.ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานฟรานซิสโก หัวหน้าคณะวิจัยชุดนี้บอกว่า ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กมีน้ำหนักมากเกินไป เพราะจะส่งผลต่อสุขภาพของเด็กเหล่านั้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม ข่าวดียังมีอยู่บ้าง คุณ David Ludwig จากโรงพยาบาลเด็กบอสตันระบุไว้ในนิตยสาร New England Journal of Medicine ว่า เด็กที่เป็นโรคอ้วนและเป็นโรคเบาหวานแบบที่ 2 ซึ่งเป็นแบบเรื้อรังถาวรนั้น อาจรักษาโรคเบาหวานดังกล่าวในระยะยาวได้หากลดน้ำหนักตัวลง และที่ปรึกษาด้านน้ำหนักผู้นี้ยังย้ำอีกว่า การที่เด็กมีน้ำหนักตัวมากเกินไปไม่ใช่สิ่งดี เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆได้ไปจนตลอดชีวิต


XS
SM
MD
LG