ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เรื่องราวเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ในหนังสือเรื่อง Under a Green Sky


เมื่อเร็วๆนี้มีหนังสือเล่มหนึ่งตีพิมพ์ออกมาชื่อ Under a Green Sky: Global Warming, the Mass Extinctions of the Past and What They Can Tell Us About Our Future ซึ่งผู้เขียนคือคุณ Peter Ward นำเสนอเรื่องราวการเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกในอดีตซึ่งส่งผลให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดสูญพันธ์ และนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์สภาวะโลกร้อนในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

คุณ Peter Ward คือผู้เชี่ยวชาญด้านซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลจากUniversity of Washington และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Under a Green Sky ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน และการสูญพันธ์ของสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธ์ในอดีตกาลเนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งรุนแรง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า Big Five

คุณ Peter Ward เล่าว่า Big Five ก็คือเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างน้อยครึ่งหนึ่งต้องสูญพันธ์ และหนึ่งใน Big Five ที่เรียกกันว่า The Permian อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สิ่งมีชีวิตสายพันธ์ต่างๆ สูญพันธ์ไปถึง 90% รายละเอียดสาเหตุและผลกระทบของเหตุการณ์ Big Five นำเสนออยู่ในหนังสือ Under a Green Sky คุณ Ward บอกว่านักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อในทฤษฎีที่ว่าเมื่อประมาณ 65 ล้านปีที่แล้ว มีอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งเข้าชนโลกอย่างแรง ทำให้สัตว์ที่มีชีวิตอยู่บนโลกในเวลานั้นคือ ไดโนเสาร์ สูญพันธ์ไปอย่างรวดเร็ว นักเขียนผู้นี้บรรยายภาพเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า

ผงฝุ่นมหาศาลที่เกิดจากการพุ่งเข้าชนตลบอบอวลในอากาศบดบังแสงอาทิตย์ทำให้โลกมืดมิดเป็นเวลายาวนานหลายปี เกิดลูกไฟลุกลามเผาไหม้ป่าต่างๆ กรดกำมะถันฟุ้งในชั้นบรรยากาศ กลับกลายเป็นฝนกรดตกลงสู่ทะเลสาบและมหาสมุทร ความตายปรากฏขึ้นทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีอุกกาบาตชนโลกไม่สามารถอธิบายสาเหตุของการสูญพันธ์ของสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธ์ ซึ่ง คุณ Ward และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆค้นพบหลักฐานในซากฟอสซิลว่า การเกิดภูเขาไฟระเบิดหลายครั้งเป็นเวลายาวนาน ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซชนิดอื่นในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คืออุณหภูมิโลกสูงขึ้น ซึ่งก็คือภาวะโลกร้อนนั่นเอง ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายพันหลายหมื่นปี ทำให้ลมหยุดพัด ระดับน้ำทะเลลดลง และสัตว์น้ำมากมายสูญพันธ์เพราะระดับก๊าซออกซิเจนในน้ำน้อยเกินไป นอกจากนั้น อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นยังทำให้แบคทีเรียชนิดหนึ่งเติบโต แบคทีเรียดังกล่าวล่องลอยทั่วไปในอากาศและเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สัตว์บกและเหล่าพืชพรรณล้มตาย ตลอดจนยังทำให้ปริมาณก๊าซโอโซนในอากาศลดลงอีกด้วย

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า สภาพแวดล้อมโลกในเวลานั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อปริมาณก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอยู่ที่ระดับ 1 พันส่วนต่อล้านส่วน ในขณะที่ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1 ใน 3 ของช่วงเวลาดังกล่าวและกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ หลักฐานซากฟอสซิลยังแสดงให้เห็นถึงภาวะน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ซึ่งทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอีก 75 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่เพียงพอจะทำให้เมืองทุกเมืองตามแนวชายฝั่งและพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ในปัจจุบันจมอยู่ใต้ทะเล นักเขียนผู้นี้บอกว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต และอาจจะเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคต หากผู้คนบนโลกไม่ช่วยกันควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ

อย่างไรก็ตาม คุณ Peter Ward บอกว่ายังมีความหวังอยู่นะครับ เพราะเวลานี้ประชากรโลกส่วนใหญ่กำลังตื่นตัวกับภาวะโลกร้อน และรับทราบถึงวิธีการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และนักเขียนผู้นี้ยังสนับสนุนให้ทุกคนช่วยกันคนละไม้ละมือเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน

คุณ Ward บอกอีกว่าเวลานี้โลกกำลังถูกคุกคามด้วยน้ำมือมนุษย์ที่โหมทำลายธรรมชาติ และอาจทำให้เหตุการณ์ภัยพิบัติเช่นในอดีตกลับมาอีกครั้ง ผู้ประพันธ์หนังสือ Under a Green Sky กล่าวว่า ช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนควรร่วมมือกันรักษาโลกไว้ เพราะหากโลกถูกทำลายไป ก็ไม่มีทางที่จะหาโลกใหม่หรือดาวดวงไหนมาทดแทนได้

XS
SM
MD
LG